กลุ่ม “คนไทย” เผยผลการศึกษาวิจัยระดับประเทศ 100,000 คน พบ คนไทย

ข่าวทั่วไป Thursday September 1, 2011 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--กลุ่มคนไทย กลุ่ม “คนไทย” เผยผลการศึกษาวิจัยระดับประเทศ 100,000 คน พบ คนไทย เปี่ยมด้วยความหวัง มีความคิดแง่บวก ภาคภูมิใจในชาติและความเป็นคนไทย ท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นต่อการพัฒนาประเทศ “คนไทยมอนิเตอร์” (Thailand Monitor) เป็นโครงการสำรวจความคิดเห็นที่ครอบคลุมจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ และพื้นที่มากที่สุดเท่าที่เคยดำเนินการมาในประเทศไทย โดยผลสำรวจได้เปิดเผยถึงอุปนิสัยใจคอและอัตลักษณ์ของคนไทยว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง มีความคิดในแง่บวก และความภาคภูมิใจชาติ และความเป็นคนไทย แม้จะอยู่ท่ามกลางปัญหาด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่พบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ 64% ของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการสำรวจคาดหวังว่าความเป็นอยู่จะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะยังไม่มีความมั่นใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองก็ตาม “คนไทยมอนิเตอร์” เป็นโครงการสำรวจเชิงปริมาณในระดับชาติที่มีความน่าเชื่อถือทางสถิติและได้มาตรฐาน โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 100,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด โครงการนี้ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (Thailand Marketing Research Society: TMRS) ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมวิจัยการตลาดโลก (European Society for Opinion and Marketing Research: ESOMAR) และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับการดำเนินการจากมูลนิธิคนไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีภารกิจในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความสุขและความปรองดองกันให้แก่ประเทศไทย ผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และการให้องค์ความรู้ต่างๆ โดยการสำรวจ “คนไทยมอนิเตอร์” นี้ เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อรับรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งในแง่สังคมเศรษฐกิจ สุขภาพ และการพัฒนา อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง นายวิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิคนไทย และผู้แทนจากสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย และ สมาคมวิจัยการตลาดโลก ได้เปิดเผยผลสำรวจเบื้องต้นของการสำรวจ “คนไทยมอนิเตอร์” ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมของคุณภาพชีวิต ความต้องการ อุปนิสัย ความเชื่อ และค่านิยม ของประชาชนไทย รวมถึงด้านการพัฒนาของประเทศ โดยนายวิเชียรได้กล่าวว่า “การสำรวจ ‘คนไทยมอนิเตอร์’ ช่วยให้เราเห็นถึงรายละเอียดของประเทศไทยและระชาชน และเนื่องจากโครงการนี้จะมีการจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ประโยชน์ที่ได้รับคือการได้รับรู้และติดตามการพัฒนาของดัชนีชี้วัดต่างๆ การสำรวจดังกล่าวยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนไทยทุกภาคส่วนมีโอกาสในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทยและช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน” นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่าหวังว่าผลของการวิจัยนี้จะถูกนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ แก่สังคมและประเทศโดยรวม ดร.เครือวัลย์ ลิ่มอภิชาติ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่าสมาคมมีเจตนารมย์เดียวกันกับกลุ่มคนไทยที่ต้องการสร้างสังคมที่มีความสุข จึงได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยอันเป็นประโยชน์ครั้งนี้ “เนื่องจากการสำรวจ ‘คนไทยมอนิเตอร์’ เป็นการสำรวจเชิงปริมาณที่มีขนาดใหญ่มาก ครอบคลุมพื้นที่จากในเมืองจนถึงตะเข็บจังหวัดและชายแดน จึงได้รับความร่วมมือจากบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญทั้งหมด 7 บริษัทซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย และสมาคมวิจัยการตลาดโลก โดยการสำรวจครั้งนี้ได้ผ่านมาตรการการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดสูงสุดอย่างเคร่งครัดตามระเบียบวิธีการมาตรฐานสากลของสมาคมวิจัยการตลาดโลก เพื่อรับประกันความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ” ดร.เครือวัลย์ กล่าว ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนจำนวนถึง 87% ของประเทศมีความสุขกับชีวิตโดยรวมของตน อีกทั้งยังมีมุมมองในแง่ดีเกี่ยวกับชีวิตในอนาคต แม้ว่าผลการสำรวจปรากฏคะแนนต่ำสำหรับคะแนนตัวชี้วัดที่สำคัญบางตัว เช่นคะแนนตัวชี้วัดความสามัคคีของคนไทยที่ 53.4 คะแนน ความสงบสุขของประเทศไทยที่ 50.0 คะแนน และความมั่นใจในความมั่นคงของการเมืองที่ 46.7 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) นางสาววิริยา วรกิตติคุณ นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สิ่งที่น่าสนใจคือถึงแม้ว่าจะมีประชาชนเพียง 23% และ 34% ที่มีความมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจตามลำดับ แต่กลับมีประชาชนจำนวนสูงถึง 64% ที่คาดหวังจะเห็นการปรับปรุงในด้านชีวิตความเป็นอยู่ในแง่ของรายได้ที่มากขึ้นและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน" ในขณะเดียวกัน ปัญหาหลักๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้หรือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ได้แก่ ค่าครองชีพ/ราคาสินค้าที่สูงขึ้น (77%) รายได้ไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่าย (55%) ความเครียด (47%) ยาเสพติด (38%) ราคาพืชผล/สินค้าเกษตรที่ตกต่ำ (27% ) และภัยธรรมชาติ (27%) เมื่อเราวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้จะเห็นว่านอกเหนือจากปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการครองชีพต่างๆ แล้วปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน ปัญหาความแตกแยก/ไม่สามัคคีกันของคนในสังคม และปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ถือว่าเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงที่สุดที่ประชาชนกำลังประสบ ในด้านการพัฒนา กว่า 66% ของประชาชนเห็นว่ามีการดำเนินงานเพื่อพัฒนาในระดับชุมชนและจังหวัดไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ในขณะที่ประชาชนจำนวนน้อยกว่า กล่าวคือ 55% รู้สึกเช่นเดียวกันเกี่ยวกับการพัฒนาในระดับประเทศ ประชาชนชาวไทยเห็นว่าการพัฒนาหลักๆ ของประเทศเป็นการพัฒนาในแง่ของโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม ด้านการให้โอกาสทางการศึกษา และด้านสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ในทางตรงกันข้าม ประชาชนให้เหตุผลสำหรับการพัฒนาไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสมในด้านปัญหายาเสพติด แก๊งเด็กวัยรุ่น อาชญากรรม คอรัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ และสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คนไทยยังคงต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และวิธีปฏิบัติเพื่อการพัฒนาดังกล่าวได้แก่ การไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง (33%) การไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคม/ประพฤติตนให้ถูกต้องเหมาะสม (28%) ยึดถือจริยธรรม/ศีลธรรมและคุณงามความดี (26%) การประหยัดและอยู่อย่างพอเพียง (22%) ในแง่อุปนิสัยใจคอของคนไทย ได้แก่ รักความสนุกสนาน (85%) มี “น้ำใจ” (84%) มีจิตใจเอื้อเฟื้อ (84%) อบอุ่น/เป็นมิตร (82%) และริเริ่มสร้างสรรค์ (80%) คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นคุณลักษณะทางบวกที่สำคัญของคนไทย ในทางตรงข้าม มีคุณลักษณะในแง่ลบหลายประการของคนไทยที่ยังเห็นได้ชัด ได้แก่ ชอบมีหน้ามีตาในสังคม (87%) มีความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆ (85%) มีความเชื่อในโชคชะตา (81%) ไม่ซื่อตรง (61%) เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน (61%) ไม่มีวินัย (58%) และขาดความสนใจในสิ่งรอบข้าง (56%) อย่างไรก็ตาม คนไทยยังมีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือมีความภาคภูมิใจชาติ โดยที่เกือบ 100% ของประชากรแสดงความเห็นว่าตนเองรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยและเป็นพลเมืองไทยของประเทศไทย นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ ประธานสมาคมวิจัยการตลาดโลก (ESOMAR) ในประเทศไทย และที่ปรึกษากิติมศักดิ์สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า “ความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพล้วนเป็นความหวังสำหรับทุกสังคม และการสำรวจ ‘คนไทยมอนิเตอร์’ ได้บ่งชี้ตัวขับเคลื่อนความสุขที่สำคัญๆ สำหรับประชาชน ได้แก่ การมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี ความอบอุ่นและการอยู่กันอย่างพร้อมเพียงในครอบครัว การได้รับรายได้ที่เพียงพอ การมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ให้เวลาแกตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่าเมื่อคนมีอายุมากขึ้น แต่กลับมีรายได้น้อยลง ส่งผลให้ระดับของความสุขของคนลดลงตามลำดับ” โดยสรุป ข้อมูลจากการสำรวจ “คนไทยมอนิเตอร์” จะถูกนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึกและสรุปในรายงานการบริหารจัดการ (Management Report) ให้แก่ผู้ที่สนใจ ทั้งนี้จากผลการสำรวจเบื้องต้นนั้น นางดารณีสรุปว่า นโยบายระดับชาติควรเน้นผลที่ได้รับจากการสำรวจที่สำคัญอีกประการ คือ ดัชนีชี้วัด อาทิ ความสามัคคีของคนในชาติ ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย และดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ ตัวเลขเหล่านี้จะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อ เปรียบเทียบกับตัวเลขของการสำรวจในครั้งต่อไป รวมถึงรับทราบว่ามีประเด็นใดที่ได้รับการพัฒนา และประเด็นที่ยังคงต้องพัฒนา หรือแก้ไขต่อไป นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ ว่าจากผลเบื้องต้นนี้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องได้รับการดูแลในระยะยาว เพื่อให้คนไทยอยู่ดีมีสุข ได้แก่ 1.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคม (โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปี หรือมากกว่า) 2.เพิ่มรายได้ส่วนบุคคล 3.ส่งเสริมความความสามัคคีของคนในชาติ 4.ให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่คนไทยอย่างทั่วถึง 5.มีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการหรือลดปัญหาการทุจริต/คอรัปชั่น 6.ลดปัญหาเรื่องยาเสพติด 7.ส่งเสริมคุณธรรมแก่ประชาชนคนไทยในเรื่องของ จริยธรรม ศีลธรรม ความสุจริต การมีวินัย และการนึกถึงประโยขน์ส่วนรวม 8.ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพของประชาชนคนไทยและส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพกายและจิตที่ดี 9.ยกระดับและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการพัฒนาชุมชน 10.กระตุ้นการมีส่วนร่วมต่อจิตสาธารณะแก่ประชาชนคนไทย โดยสรุปข้อมูล “คนไทยมอนิเตอร์” จะถูกนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึกและสรุปเป็นรายงานระดับประเทศให้แก่ทุกภาคส่วนที่สนใจภายในเดือนตุลาคมศกนี้ รายงานดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถวิเคราะห์ลงลึกในระดับจังหวัด อายุ เพศ รายได้ เป็นต้น นางดารณี กล่าวสรุปว่า โครงการ “คนไทย มอนิเตอร์” จะเป็นฐานข้อมูลความรู้ระดับประเทศ ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยทุกคน สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย จะทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลและพร้อมให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแก่ผู้สนใจต่อไป คุณวิลสา พงศธร กลุ่มคนไทย โทร : 0-2301-1110 อีเมล์ : vilasa.p@pfc.premier.co.th
แท็ก thailand  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ