ศอส.เตือน 3 จังหวัดเสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม 4 จังหวัดรับมือน้ำล้นตลิ่ง

ข่าวทั่วไป Thursday September 1, 2011 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ปภ. ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 11 จังหวัด พร้อมเตือน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ขณะที่ 4 จังหวัดภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองและพระนครศรีอยุธยา เตรียมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่งในระยะ 3 — 4 วันนี้ โดยเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำจังหวัดให้เร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ที่ได้รับความเสียหายชัดเจนทันที และวางแนวทางการช่วยเหลือในพื้นที่ที่สภาพความเสียหายยังไม่ชัดเจน พร้อมสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี และเขต 16 ชัยนาท เตรียมอุปกรณ์และยานพาหนะให้พร้อมปฏิบัติการทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า มีจังหวัดประสบสถานการณ์อุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน จำนวน 36 จังหวัด 283 อำเภอ 1,890 ตำบล 15,534 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 1,133,589 ครัวเรือน 3,880,229 คน สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 25 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 11 จังหวัด รวม 56 อำเภอ 392 ตำบล 2,266 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 116,060 ครัวเรือน 340,564 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี พังงา ระนอง และสุราษฎร์ธานี ผู้เสียชีวิต 55 ราย ผู้สูญหาย 1 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,370,446 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่าจะเสียหาย 45,931 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2,096,219 ตัว น้ำท่วมเส้นทางคมนาคมเสียหาย ทางหลวงไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 4 สาย ใน 3 จังหวัด ดังนี้ สุโขทัย 2 สาย น่าน 1 สาย พิจิตร 1 สาย ทางหลวงชนบทไม่สามารถสัญจรผ่านได้19 สาย ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 3 สาย นครสวรรค์ 6 สาย พิจิตร 4 สาย พิษณุโลก 1 สาย นครพนม 2 สาย ระยอง 2 สาย ระนอง 1 สาย สถานบริการสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ 50 แห่ง บ่อน้ำบาดาลเสียหาย 7,992 บ่อ สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร และอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีและอ่างทอง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้จังหวัดหนองคาย บึงกาฬและจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงช้าลง คาดการณ์หลังจากนี้ระดับน้ำจะลดลงตามลำดับ นายฉัตรป้อง กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมามีภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พื้นดิน ในหลายพื้นที่อยู่ในสภาพชุ่มน้ำอยู่แล้ว และยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงภัยในเขตอำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก อำเภอ หล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มและ น้ำป่าไหลหลากในระยะ 1 — 2 วันนี้ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยทันทีที่มีการแจ้งเตือน นอกจากนี้ จากการประสานข้อมูลกับกรมชลประทาน พบว่า ในระยะ 3 — 4 วันข้างหน้า ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะอยู่ในเกณฑ์ 2,900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงต้องใช้ระบบชลประทานควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านในเกณฑ์ประมาณ 2,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ลุ่มบริเวณ สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองและพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 50 — 70 ซม. จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมการป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยให้เสริมแนวกระสอบทรายป้องกันตลิ่ง พร้อมขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของมีค่า สัตว์เลี้ยงและยานพาหนะขึ้นที่สูง พ้นจากแนวระดับน้ำท่วมถึง ตลอดจน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยเฉพาะเกษตรกรให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 10 กันยายน 2554 เพื่อป้องกันพืชผลการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้ 3 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึง 4 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเสี่ยงภาวะ น้ำล้นตลิ่ง ให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอย่างเข้มข้น โดยจัดกำลังคนติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระดับน้ำ และสังเกตสัญญาณ ความผิดปกติทางธรรมชาติเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเตรียมอุปกรณ์ ยานพาหนะให้พร้อมสำหรับการช่วยเหลือ และอพยพประชาชน พร้อมเน้นย้ำจังหวัดให้เร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายชัดเจนทันที โดยไม่ต้องรอน้ำลดระดับ ขณะที่พื้นที่ที่สภาพความเสียหายยังไม่ชัดเจนและต้องรอสำรวจภายหลังน้ำลด ให้จังหวัดวางแนวทางการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี และเขต 16 ชัยนาท เตรียมอุปกรณ์และยานพาหนะให้พร้อมปฏิบัติการทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ