ยูบีซีชี้แจงเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

ข่าวกีฬา Thursday May 9, 2002 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กลุ่มบริษัทยูบีซี
ตามที่ผู้บริหารบริษัททศภาคออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกนั้น มีข้อมูลหลายเรื่องซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดหรือสับสนได้ ยูบีซีจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
ยูบีซี เช่นเดียวกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีทั่วโลกจะทำการซื้อรายการที่ประชาชนไม่สามารถหาชมได้ในช่องทีวีภาคปกติ สมาชิกเคเบิลทีวีต่างเต็มใจที่จะจ่ายเงินค่าสมาชิกสำหรับรายการเหล่านี้ เนื่องจากไม่สามารถรับชมได้ทางช่องทีวีภาคปกติต่างๆ
ในการหารือกับยูบีซี ทศภาคได้แจ้งว่ารายการฟุตบอลโลก 2002 ทุกนัดจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ช่อง 11 และไอทีวี ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่ยูบีซีต้องซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมานำเสนอในช่องรายการยูบีซีเอง เพราะผู้ชมสามารถรับชมได้จากช่องทีวีปกติ ไม่มีเหตุผลที่ยูบีซีต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อลิขสิทธิ์รายการทีวีภาคปกติที่ทุกคนสามารถหาชมได้โดยไม่เสียเงิน และยูบีซีขอปฏิเสธเรื่องที่กล่าวว่า ยูบีซีขอการแข่งขัน 5 นัด ประจำปี 2002 เพื่อถ่ายทอดสดในช่องรายการของยูบีซีเท่านั้น
ที่ผ่านมายูบีซีได้นำสัญญาณฟรีทีวีทุกช่องส่งให้กับสมาชิกได้รับชมผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณยูบีซี อันเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งโดยไม่ได้คิดค่าตอบแทนใดๆ ค่าสมาชิกที่ยูบีซีเรียกเก็บไม่ใช่เพื่อการส่งผ่านสัญญาณของทีวีภาคปกติ ในความเป็นจริงมีประชาชนหลายพันครัวเรือนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูบีซีแต่ได้ใช้อุปกรณ์ภาครับของยูบีซีเพื่อรับสัญญาณของช่องรายการทีวีภาคปกติในหลายพื้นที่ที่ไม่สามารถรับสัญญาณฟรีทีวีได้
การที่จะตัดสินไม่ให้ประชาชนรับชมรายการฟุตบอลโลกโดยผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณของยูบีซี ต้องเป็นการตัดสินใจของช่อง 9 ช่อง11 และ ไอทีวีเอง การที่จะดำเนินการตัดสัญญาณรายการฟุตบอลโลก ทางช่อง 9, 11 และไอทีวี ไม่ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกยูบีซีและประชาชนทั่วไปรับชมผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณของยูบีซีจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมากต่อประชาชน
อีกทั้งถ้าทศภาคพยายามที่จะดำเนินการไม่ให้มีการถ่ายทอดสัญญาณออกไป ดังที่กล่าวข้างต้นจะขัดกับหลักการที่ทศภาคเคยประกาศไว้เองว่า คนไทยทุกคนจะได้รับชมรายการฟุตบอลโลกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติม เพราะมีคนไทยจำนวนมากซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถรับสัญญาณทีวีภาคปกติได้ แต่คนเหล่านั้นได้ใช้อุปกรณ์ภาครับของยูบีซีในการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคปกติได้โดยไม่ได้เป็นสมาชิกยูบีซีแต่อย่างใด
ตามที่บริษัททศภาคได้เคยกล่าวว่าประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกผ่านทางทีวีภาคปกติเพราะสัญญาณของยูบีซีครอบคลุมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เป็นการสร้างความสับสนและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ หากเป็นจริงตามนี้ก็ถือได้ว่า เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ปราศจากเหตุผลของเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างประเทศต่อบริษัททศภาคอย่างมาก ยูบีซีจึงขอชี้แจงตามข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
1. ฟีฟ่าได้ขายสิทธิ์รายการฟุตบอลโลกให้แก่มาเลเซียเช่นเดียวกัน ซึ่งสัญญาณดาวเทียมของโทรทัศน์ภาคปกติและเคเบิลทีวีของมาเลเซียก็ครอบคลุมและสามารถรับได้ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน คำถามจึงมีว่า ฟีฟ่าบังคับเงื่อนไขเหล่านี้กับประเทศอื่นด้วยหรือเปล่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สัญญาณดาวเทียมมีพื้นที่ครอบคลุมเขตแดนของเพื่อนบ้านอยู่แล้ว คำถามต่อมาจึงมีว่า ประเทศไทยหรือยูบีซีก็ดีได้กลายเป็นเป้าหรือเป็นเหยื่ออย่างไร้เหตุผลเพื่อที่จะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับผลประโยชน์ทางการเงินเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า
2. เป็นนโยบายของยูบีซีอยู่แล้วที่จะขายสมาชิกให้แก่ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
3. เป็นเรื่องปราศจากเหตุผลอย่างยิ่งที่ทศภาคอ้างเงื่อนไขของบริษัท KIRCH หรือฟีฟ่าว่า ห้ามสัญญาณรายการฟุตบอลโลกกระจายออกไปนอกเขตประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าสัญญาณโทรทัศน์ภาคปกติของไทยที่ส่งออกอากาศในระบบซีแบนด์ผ่านดาวเทียมไทยคมได้ครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ที่กว้างขวางกว่าพื้นที่ที่ครอบคลุมโดยสัญญาณเคยูแบนด์ของยูบีซี สัญญาณซีแบนด์นั้นสามารถครอบคลุมพื้นที่ไปได้ไกลถึงประเทศอินเดีย จึงจะเกิดคำถามอีกว่า ทศภาคจะบังคับไม่ให้สัญญาณของโทรทัศน์ภาคปกติ ช่อง 9, 11, ไอทีวีส่งข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร
4. ยิ่งกว่านั้น ทั่วประเทศไทยมีผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นมากกว่า 100 ราย ซึ่งทำการถ่ายทอดสัญญาณของทีวีภาคปกติ ช่อง 9,11,ไอทีวี มาโดยตลอด ทศภาคจะดำเนินการไม่ส่งสัญญาณฟรีทีวีไปให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นได้อย่างไรในกรณีผู้ประกอบการท้องถิ่นไม่สามารถจ่ายเงินตามที่ทศภาคกำหนดไว้
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัทยูบีซี
วิลาวัลย์ โชคครรชิตไชย, ยิ่งพรรณ พฤกษยาชีวะ
โทร. 0-2615-9761-3 โทรสาร 0-2615-9119--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ