Y&R จุดติดไอเดีย วางหมากสร้างแบรนด์ ผลักดันธุรกิจยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2011 09:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--Y&R Energy Y&R Energy ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารและบริหารตราสินค้า เชื่อว่าแผนกลยุทธ์ที่ดีควรต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของพลวัตโลกและสังคม Y&R Energy จึงเกาะติดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อบริบททางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลสถิติที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ อาทิเช่น ผู้บริโภคไทยสมัยนี้รักการใช้ชีวิตอิสระและมีเสรีภาพทางความคิดมากขึ้น โดย1ใน3 ของคนไทยอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อัตราการแต่งงานลดลงมีจำนวนคนโสดมากขึ้น จำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยเหลือประมาณ 3 คนต่อครอบครัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีการคิดรอบคอบมากขึ้นแม้จะเป็นการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันก็ตาม โฆษณายังคงเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสมัยนี้แสวงหาข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายแหล่งกว่าเดิม โดยเฉพาะการหาข้อมูลผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ท ซึ่งคนไทยเป็นประเทศที่มีอัตราประชากร facebook มากเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย โดยพวกเขาใช้เวลาเฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์บน social network และวัยรุ่นไทยยัง มีเพื่อนบนสังคมออนไลน์โดยเฉลี่ยถึง 211 คน ขณะที่วัยรุ่นในภูมิภาคเอเชียประเทศอื่นๆ มีค่าเฉลี่ยของเพื่อนออนไลน์เพียง 140 คน ทั้งนี้ 80% ของนักออนไลน์ชาวไทยเป็นผู้ที่ให้ความสนใจร่วมทำกิจกรรมกับแบรนด์ต่างๆ ผ่านทางออนไลน์อยู่เสมอด้วย การแปลี่ยนแปลงในเชิงบริบทของสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคเหล่านี้อาจมีนัยยะที่ส่งผลกระทบในเชิงพาณิชย์กับธุรกิจต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ Y&R Energy ได้ประเมินสถานการณ์ และนำเสนอแนวความคิดภาพรวมเกี่ยวกับการวางแผน กลยุทธ์เพื่อสร้างและบริหารแบรนด์ให้สอดรับกับบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลง และช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน Y&R Energy สังเกตว่าหลายแบรนด์ดังทั่วโลกเริ่มออกมาตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ้างแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของแบรนด์เหล่านี้ที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน คือ การปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ซึ่งแนวโน้มของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มีประเด็นสำคัญที่ธุรกิจควรต้องจับตามอง ได้แก่ 1. เวลา คือ สินทรัพย์มีค่าในยุคชีวิตติดสบาย (Cash Rich , Time Poor - Now-conomy Living) : ท่ามกลางชีวิตที่วุ่นวาย ผู้บริโภคสมัยนี้มักคุ้นชินและถูกตามใจด้วยเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ อยู่เสมอ ขณะที่นักการตลาดพยายามนำเสนอสินค้าหรือโปรโมชั่นที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้บริโภคเองก็ต้องการทำภารกิจหลายอย่างมากขึ้นในเวลาอันจำกัด ดังนั้น short cut หรือ ความง่าย คือสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่มองหาอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน 2. ยุคผู้บริโภคช่างคิด...ท้าทายคุณค่าของแบรนด์ได้ทุกสถานการณ์ (Prosumers : Active Conversationalists) : เทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้โลกของผู้บริโภคแต่ละคนสามารถอยู่ใกล้กันได้มากขึ้นแม้ไม่รู้จักกันมาก่อนก็ตาม ทำให้ผู้บริโภคสามารถร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองและแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้จากแบรนด์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ผู้บริโภคแสวงหาหรือให้ความเชื่อถือนั้นส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากผู้บริโภคด้วยกันเอง ซึ่งมีประสบการณ์ตรงกับการใช้สินค้ามากกว่าจะรอรับข้อเสนอหรือคำโฆษณาชวนเชื่อจากแบรนด์ 3. บริโภคด้วยจิตสาธารณะ ใส่ใจมากกว่าเรื่องใกล้ตัว (Altruistic Consumption) : จากผลกระทบทางสภาพแวดล้อมที่พบเห็นได้บ่อยครั้งและใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคปัจจุบันจึงมีจิตสำนึกและพิถีพิถันในการคัดเลือกสินค้าและบริการมากขึ้น ความใส่ใจในการบริโภคไม่ได้หยุดอยู่แค่อรรถประโยชน์พื้นฐานส่วนตัวที่ผู้บริโภคจะได้รับในขณะใดขณะหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้บริโภคเหล่านี้ยังมองถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับโลกและตัวผู้บริโภคเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งได้รับผลกระทบจากการบริโภคนั้นๆ เช่น หากจะกินผัก ผลไม้ก็เริ่มใส่ใจถึงที่มา และกรรมวิธีในการปลูกว่าต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคอยู่อาศัย หรือการเลือกทานเนื้อสัตว์ ก็เริ่มพิจารณาว่าเนื้อสัตว์ดังกล่าวผ่านการชำแหละโดยไม่ทารุณสัตว์ (animal welfare) หรือแม้กระทั้งกรรมวิธีการผลิตสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งคำนึงถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่อาจส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ตามแนวทางของ carbon footprint ที่หลายๆ ประเทศยึดถือปฏิบัติกันอยู่ เป็นต้น 4. ผู้บริโภครู้ทันแบรนด์ มองหาความจริงใจไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ (Inquisitive , Praise Social Knowledge, Fairness and Truth) : ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากนัก ผู้บริโภคจะเสาะแสวงหาข้อมูลกันมากขึ้นเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ กระบวนการตรวจสอบข้อมูลกลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค พวกเขาเริ่มคาดหวังที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและจริงใจมากกว่าข้อมูลที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์แบบ หรือความเก่งกาจของแบรนด์โดยปกปิดความผิดพลาด หรือความไม่ถูกต้องที่อาจเกิดได้ในโลกของความเป็นจริง 5. ใฝ่หาประสบการณ์ใหม่ สนใจในแบรนด์ที่ไม่หยุดนิ่ง (Boredom Antagonist Attracted to Fresh Idea and Excitement) : ผู้บริโภคในปัจจุบันเข้าถึงสื่อได้ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกย้ำด้วยข้อเสนอ หรือการสื่อสารรูปแบบ หรือ ประเด็นเดิมๆ ผู้บริโภคจะเกิดอาการเบื่อง่าย หน่ายเร็ว จากนั้นก็จะหันเหความสนใจ และเลือกพิจารณาเฉพาะเนื้อหาที่สดใหม่ แตกต่าง และเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองเท่านั้น จากพลวัตการเปลี่ยนแปลง สู่การขับเคลื่อนกลยุทธ์การบริหารแบรนด์ในอนาคต Y&R Energy ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร และ บริหารตราสินค้า มองว่าการที่จะพาแบรนด์ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืนได้นั้น แบรนด์จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้ Transparent แบรนด์จะต้องแสดงความโปร่งใส และ จริงใจกับผู้บริโภค และสังคม การบริหารธุรกิจอย่างรับผิดชอบและโปร่งใส ด้วยหลักธรรมาภิบาล จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผู้บริโภคแสวงหาจากแบรนด์ และมักชื่นชอบมากกว่าการที่แบรนด์จะโอ้อวดสรรพคุณ เหนือคู่แข่งทางธุรกิจ หรือมุ่งเน้นการสร้างภาพเพียงอย่างเดียว แบรนด์ควรหาวิธีการในการแสดงออกถึงความจริงใจ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการสื่อสารประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความชื่นชอบและการแนะนำแบรนด์จากผู้บริโภคที่มีประสบการณ์สู่ผู้บริโภคอื่นๆ ต่อไป Transform life แบรนด์จะต้องช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับแบรนด์ในทุกมิติไม่เพียงแค่ผู้บริโภค แบรนด์ควรต้องเข้าใจและสนับสนุนผู้บริโภคในมิติที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงการบริโภคของผู้บริโภคคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลความสัมพันธ์ และผลประโยชน์ที่เกื้อหนุนกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่รายรอบแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น ซัพพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น สื่อสารมวลชน หรือชุมชนใกล้เคียงที่แบรนด์มีบทบาทอยู่ด้วย Translate value แบรนด์จะต้องถ่ายทอดคุณค่าของแบรนด์ที่เหมาะสมกับผู้บริโภคอย่างชัดเจน และ สม่ำเสมอแบรนด์ควรหมั่นสร้างความน่าสนใจ ความสดใหม่ในสายตาผู้บริโภคท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารใน touch point ใดก็ตาม ก็ควรที่จะใส่ความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มความแตกต่างที่จะช่วยชักจูงความสนใจและสร้างการจดจำของผู้บริโภคให้ได้ ขณะเดียวกัน การสื่อสารของแบรนด์ควรต้องรักษาความเป็นตัวตน บุคลิกภาพ และคุณค่าของแบรนด์ให้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรู้จักบริหารสินทรัพย์ที่แบรนด์มีอยู่เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด การผสานองค์ประกอบเหล่านี้เข้าด้วยกันจะส่งผลต่อคุณค่าที่แบรนด์สามารถมีให้กับผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน เช่น หากแบรนด์แสดงออกถึงความซื่อสัตย์ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคได้ด้วย แบรนด์นั้นก็สามารถมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและบอกต่อในกลุ่มผู้บริโภคได้ไม่ยากนัก หากแบรนด์มีความซื่อสัตย์และถ่ายทอดคุณค่าได้อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ ผู้บริโภคจะรู้สึกเชื่อมั่นและไว้วางใจในแบรนด์มากยิ่งขึ้น และหากแบรนด์ถ่ายทอดคุณค่าที่ชัดเจนได้ดี ขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม แบรนด์ก็จะสามารถสร้างสายใยความผูกพันธ์กับผู้บริโภคให้แนบแน่นยิ่งขึ้นได้ ทั้งนี้ เชื้อเพลิงที่จะพาแบรนด์ขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ แบรนด์จะต้องอาศัยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจและมีคุณค่า ขณะที่ นวัตกรรม (Innovation) จะเป็นเครื่องมือผลักดันแบรนด์ให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งผลลัพธ์ที่แบรนด์จะได้คือการสร้างประสบการณ์เชิงพาณิชย์ให้กับผู้บริโภค (Experiential Economy) ?? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026580999 Y&R Energy
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ