กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--อย.
อย.จับมือกรมประมงบุกตรวจสถานที่ขายยาสัตว์ผิดกฎหมายที่ จ.ฉะเชิงเทรา พบ 2 แห่งมีความผิดฐานขายยาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาไม่มีทะเบียนตำรับยา จึงส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย เผย อันตรายยาจะตกค้างในเนื้อสัตว์ หากคนบริโภคเข้าไปก็อาจทำให้ได้รับอันตรายจากยาตกค้างและอาจก่อปัญหาเชื้อดื้อยาได้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากปัญหาการตรวจพบสารตกค้างในเนื้องกุ้งที่ส่งออก ทำให้ต่างประเทศตีกลับสินค้า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดส่งออกกุ้งมูลค่านับแสนล้านบาท สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา คือ การผลิตหรือขายยาที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ทำให้เกษตรผู้เลี้ยงกุ้งใช้ยาอย่างผิดๆ ส่งผลให้เกิดสารตกค้างในเนื้อกุ้ง ซึ่งที่ผ่านมา อย.ได้จับกุมและทลายแหล่งผลิตยาเถื่อนมาหลายแห่งแล้ว และขยายผลการจับกุมมาที่ร้านค้าปลีก โดยในวันนี้ (22 พฤษภาคม 2545) เจ้าหน้าที่ อย.ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมประมงซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติยา เข้าตรวจร้านขายอาหารสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 9 แห่ง พบ 2 แห่งที่กระทำผิดกฎหมาย ได้แก่ ร้านพูนทรัพย์พานิช เลขที่ 9/1 หมู่ 2 ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และบริษัท ลีละวงศ์ค้าอาหารสัตว์ จำกัด เลขที่ 110/5 ต.โสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีการขายยาโดยไม่มีใบอนุญาตขายยา และขายยาปฏิชีวนะที่นำไปใช้ในสัตว์น้ำจำพวกกุ้งโดยไม่มีทะเบียนตำรับยา เช่น นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin), ออกซี่เตตร้าไซคลิน (Oxytetracycline), ซัลฟาเมธอกซาโซล (Sulfamethoxazole), ไตรเมทอปริม (Trimethoprim), และ อ็อกโซลินิค แอซิด (Oxolenic acid) จึงได้แจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำผิด 2 ข้อหา คือ ข้อหาขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และข้อหาขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางเพื่อประกอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรายนี้ต่อไป
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ยาที่จับกุมได้นั้น เป็นยาปฏิชีวนะ ที่ใช้สำหรับสัตว์น้ำไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หากนำไปใช้กับสัตว์เพื่อการบริโภค อาจทำให้เกิดอันตรายจากยาที่ตกค้าง และอาจก่อปัญหาเชื้อดื้อยาได้อีกด้วย อย.จะร่วมมือกับกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและออกตรวจสอบปราบปรามผู้ลักลอบผลิตยาและขายยาสัตว์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และถือเป็นนโยบายสำคัญในการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยปราศจากสารต้องห้าม ขอให้บริโภคมั่นใจได้ และขอความร่วมมือให้เจ้าของฟาร์ม เกษตรกร หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่ถูกต้อง และอย่าสนับสนุนซื้อยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจาก อย.เป็นอันขาด เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งขอให้ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าปัยหายาสัตว์ไม่มีทะเบียนตำรับยา และปัญหาสารตกค้างในเนื้อสัตว์จะหมดไปได้ในที่สุด หากผู้บริโภคพบเห็นสถานที่ผลิตหรือขายยาสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าได้กระทำผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนมาได้ที่ อย.โทรศัพท์ 0-2590-7354-5 หรือผ่านสายด่วนผู้บริโภค หมายเลข 1556 กดต่อ 1005 เพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด--จบ--
-นห-