ศอส.เตือน 5 จังหวัดเสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม 4 จังหวัดภาคกลางรับมือน้ำล้นตลิ่ง

ข่าวทั่วไป Friday September 2, 2011 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ศอส. ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 จังหวัด พร้อมเตือน 5จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย น่าน และเชียงราย เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ขณะที่ 4 จังหวัดภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองและพระนครศรีอยุธยา เตรียมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่งในช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขกำชับสำนักงานสาธารณสุขให้จัดเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุ และเคมีภัณฑ์ ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง และวางมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดที่มีหลังน้ำลด นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า มีจังหวัดประสบสถานการณ์อุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน จำนวน 36 จังหวัด 283 อำเภอ 1,890 ตำบล 15,534 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 1,133,589 ครัวเรือน 3,880,229 คน สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 28 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 จังหวัด รวม 45 อำเภอ 350 ตำบล 2,189 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 134,275 ครัวเรือน 394,327 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท และอุบลราชธานี ผู้เสียชีวิต 55 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,370,446 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 45,931 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2,096,219 ตัว น้ำท่วมเส้นทางคมนาคมเสียหาย ทำให้ทางหลวงไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 4 สาย ใน 2 จังหวัด ดังนี้ สุโขทัย 2 สาย พิจิตร 2 สาย ทางหลวงชนบทไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 20 สาย ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 3 สาย นครสวรรค์ 6 สาย พิจิตร 4 สาย พิษณุโลก 1 สาย นครพนม 2 สาย ระยอง 2 สาย พังงา 1 สาย ระนอง 1 สาย สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำยมที่อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำน่านที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำป่าสักที่อำเภอ วิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำมาก ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้มีน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,259 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากภาวะล้นตลิ่ง นายฉัตรป้อง กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงภัยในเขตอำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1 — 2 วันนี้ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยทันทีที่มีการแจ้งเตือน นอกจากนี้ จากการประสานข้อมูลกับกรมชลประทาน พบว่า ในช่วงสัปดาห์นี้กรมชลประทานจะบริหารน้ำทั้งทุ่งฝั่งตะวันออกและทุ่งฝั่งตะวันตก รวมทั้งควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 2,200 — 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีให้ไหลผ่านในเกณฑ์ประมาณ 2,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายวันประมาณ 60 — 70 ซม. ยกเว้นพื้นที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงไป ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นวันละประมาณ 5 - 8 ซม. ต่อเนื่องทุกวัน จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมการป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยให้เสริมแนวกระสอบทรายป้องกันตลิ่ง พร้อมขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของมีค่า สัตว์เลี้ยงและยานพาหนะขึ้นที่สูง พ้นจากแนวระดับน้ำท่วมถึง ตลอดจน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้ 5 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึง 4 จังหวัดภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเสี่ยงภาวะน้ำล้นตลิ่งเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมประสานกระทรวงสาธารณสุขกำชับสำนักงานสาธารณสุขให้จัดเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุ และเคมีภัณฑ์ ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในจังหวัดที่มีน้ำท่วมขังและอาจเกิดโรคระบาด และวางมาตรการ เฝ้าระวังโรคระบาด โดยเน้นกิจกรรมหลัก 6 ด้าน ได้แก่ การวินิจฉัยโรค การรายงานผู้ป่วย การยืนยันสอบสวนโรค การวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดทำรายงาน และป้องกัน โรคระบาดที่มาหลังน้ำ เพื่อให้การป้องกันโรคระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ประสบอุทกภัย 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ