กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชั่วคราวสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ไม่น่าส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโรงกลั่นไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตอยู่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (‘AA-(tha)’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/F1+(tha)), บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่นจำกัด (มหาชน) ((‘A-(tha)’/เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก/F2(tha)), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (‘A-(tha)’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/F2(tha)), และ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (‘F1(tha)’)
รัฐบาลได้ประกาศยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชั่วคราวสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล รวมถึงประกาศลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและเพิ่มเงินชดเชยราคาน้ำมันสำหรับแก๊สโซฮอล์ โดยมาตราการเหล่านี้มุ่งที่จะลดระดับราคาขายปลีกของน้ำมันสำเร็จรูปดังกล่าวลง
การลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลรวมถึงการลดลงของส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเบนซินอันเป็นผลจากการยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันน่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสูงขึ้นของความต้องการดังกล่าวไม่น่าส่งผลให้ค่าการกลั่นโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นมากนัก
ฟิทช์มีความเห็นว่าการยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจทำให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเกิดความตึงตัว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการจัดสรรเงินชดเชยคืนให้กับโรงกลั่นน้ำมันในการจำหน่ายก๊าซแอล พี จี และ เงินชดเชยให้กับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 4 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปโดยทำการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนจากยอดการขายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศและมีการจัดสรรเงินชดเชยสำหรับก๊าซแอล พี จี ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 4 โดยรัฐบาลมีแผนที่จะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำการกู้ยืมเงินในกรณีขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าความล่าช้าในการชำระเงินชดเชยให้กับโรงกลั่นน้ำมันไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเงินชดเชยดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับลูกหนี้ทั้งหมดของโรงกลั่น
รัฐบาลกล่าวว่าการยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเพียงมาตราการชั่วคราว ซึ่งไม่น่าจะเกิน 12 เดือน อย่างไรก็ตามการกลับมาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง หากไม่มีเงินชดเชยราคาที่เพียงพอ ความต้องการใช้เอทานอลน่าจะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ ซึ่งอาจทำให้นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทางเลือกไม่ได้ผลเท่าที่ควร ในปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเอทานอลสูงกว่าความต้องการใช้อยู่มาก โดยในปี 2553 ประเทศไทยมีปริมาณการใช้เอทานอลเพียง 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่มีกำลังการผลิตเอทานอล 2.9 ล้านลิตรต่อวัน
ติดต่อ:
เอกพันธ์ พรหมประพันธ์
Analyst
+662 655 4753
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชั้น 13, อาคารเวฟเพลส, ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล
Senior Director
+662 655 4760
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
ในการจัดอันดับเครดิตฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Corporate Rating Methodology ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2553 และ Rating Oil Refining and Marketing Companies ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตดังกล่าวหาได้ที่ www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน