กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กทม.
กทม.ร่วมมือกับสัตวแพทย์ หลายหน่วยงานเปิดโครงการรณรงค์ผ่าตัดทำหมันและฝังไมโครชิพสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานคร คาดว่าภายใน 16 เดือน ลดจำนวนสุนัขจรจัดได้ประมาณ 120,000 ตัว
ที่วัดยาง ถนนอ่อนนุช เขตสวนหลวง วันที่ 1 มิ.ย.45 เวลา 10.00 น. นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นพ.เอี่ยม วิมุติสุนทร รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมปศุสัตว์-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงสาธารณสุข, สถานเสาวภา—สภากาชาดไทย, คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสัตวแพทยศาสตร์—มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย และสำนักงานเขตกลุ่มเขตศรีนครินทร์ ร่วมพิธีเปิด
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้าและสุนัขจรจัดเป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร ปี 2540 — 2543 ในกรุงเทพมหานครพบสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 209-401 ตัว มีจำนวนผู้ได้รับการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2544 จำนวน 28,000 คน ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล อีกทั้งมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2544 จำนวน 8 คน ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และจากการสำรวจพบว่าขณะนี้มีจำนวนสุนัขจรจัดในในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 120,000 ตัว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสุนัขจรจัดอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้าในคน ถ่ายมูลก่อนมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังอาจทำร้ายประชาชนทั่วไป เนื่องจากสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานครมีอยู่จำนวนมาก การจับสุนัขจรจัดมาทำหมัน ของกองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ไม่ทันต่อกับจำนวนสุนัขที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงสาธารณสุข, สถานเสาวภา-สภากาชาดไทย, คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณะสัตวแพทยศาสตร์ — มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย และสำนักงานเขตกลุ่มต่างๆ ร่วมผ่าตัดทำหมันสุนัขจรจัดและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 120,000 ตัว ภายใน 16 เดือน โดยระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย.45 จำนวน 30,000 ตัว ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ต.ค.45-30 ก.ย.46 จำนวน 90,000 ตัว เริ่มรณรงค์ในวันที่ 1 มิ.ย.45 จำนวน 300 ตัว
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สำหรับการฝังไมโครชิพสุนัขจรจัดจะดำเนินการกับสุนัขจรจัดที่ผ่านการทำหมันแล้วเท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝังไมโครชิพสุนัขจรจัด 1 ตัว ประมาณ 120 บาท ซึ่งสุนัขจรจัดที่ได้รับการฝังไมโครชิพจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนของสุนัขตัวนั้น เพื่อให้ง่ายแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ สำหรับโครงการรณรงค์ทำหมันสุนัขจรจัดฯ จะดำเนินการในกลุ่มเขตต่างๆ ให้ครบภายใน 16 เดือน--จบ--
-นห-