มาตรการรักษาความปลอดภัยของ โครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน (ตอนที่ 1)

ข่าวทั่วไป Friday June 7, 2002 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--รฟม.
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ได้ทำการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใต้ดินสายแรกของประเทศไทย และจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะหลักของเมืองต่อไปในอนาคต ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของโครงสร้างใต้ดิน เช่น อุโมงค์ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทางขึ้นลงของผู้โดยสาร อาคารระบายอากาศ เป็นต้น จึงได้มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่โครงสร้างใต้ดิน อันเนื่องมาจากการกระทำใด ๆ ซึ่งอยู่ภายในบริเวณเขตที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างใต้ดิน (Influence Area) โดยมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย
การรักษาความปลอดภัยโครงสร้างใต้ดินส่วนที่อยู่ภายใน "เขตดำเนินการระบบขนส่งมวลชน" (Right of Way)
การก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดินตามโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จะกระทำในบริเวณ "เขตดำเนินการระบบขนส่งมวลชน" (Right of Way) ซึ่งการก่อสร้างบางส่วนอาจจะกระทำบนผิวดิน เช่น ทางขึ้น-ลงผู้โดยสาร (Entrance Building) อาคารระบายอากาศ และทางออกฉุกเฉิน (Ventilation Building) และบางส่วนกระทำใต้ดิน เช่น สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น
วิธีการได้มาซึ่งที่ดินบริเวณที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540" ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการตามมาตรา 8 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ได้มีการตรา "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อ กิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตคลองเตย และเขตสาทร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2542"
เมื่อได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 8 แล้ว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินการเพื่อให้สามารถเข้าดำเนินงานได้ ดังนี้
(1) ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 และถ้าหากหน่วยงานใดมีความจำเป็นต้องดำเนินการในบริเวณนี้ มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 บัญญัติให้หน่วยงานนั้นต้องทำความตกลงกับผู้ว่าการการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยก่อน
(2) ที่ดินของเอกชนที่อยู่ภายในเขตดำเนินการระบบขนส่งมวลชน
ในกรณีที่ รฟม. มีความจำเป็นต้องก่อสร้างในที่ดินของเอกชน ก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 คือ ต้องพิจารณาก่อนว่า การดำเนินการในที่ดินนั้นมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นหรือไม่ เช่น ถ้าเป็นการก่อสร้างบนผิวดิน ก็จำเป็นต้องเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นมาเป็นของรัฐ โดยดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แต่หากเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผ่านไปใต้ที่ดินนั้น อาจไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินนั้นมาเป็นของ รฟม. แต่ให้ "กำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์" ตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 เพื่อให้ รฟม. สามารถก่อสร้างอุโมงค์ผ่านไปใต้ที่ดินนั้นได้ในขณะที่เอกชนผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นยังคงใช้ผิวดินของที่ดินนั้นต่อไปได้ ในการนี้ รฟม. จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 แต่ในการจ่ายค่าทดแทนนั้น มาตรา 14 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องให้ผู้มีสิทธิรับค่าทดแทนนั้นทำ "สัญญากำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์" ก่อน แล้วนำสัญญากำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์นั้นไปจดทะเบียน เพื่อกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์นั้นในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนด ฯลฯ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินตามมาตรา 15 ซึ่งจะมีผลให้ที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ "ทรัพยสิทธิ" อันจะมีผลผูกพันต่อบุคคลอื่นที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นภายหน้า
เมื่อมีการจดทะเบียนกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว มีผลตามมาตรา 17 ให้อสังหาริมทรัพย์นั้นตกอยู่ภายใต้ภาระในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีกำหนดเวลานับแต่วันที่จดทะเบียนเป็นต้นไป เว้นแต่จะได้จดทะเบียนกำหนดเวลาเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากที่ดินที่มีการกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ อยู่ภายในเขตดำเนินการระบบขนส่งมวลชน (Right of Way) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยของโครงสร้างของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ดังนั้น จึงมีบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 วางหลักไว้ว่า ในบริเวณนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบขนส่งมวลชน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540
แต่อย่างไรก็ตาม ในสัญญากำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้น มีข้อกำหนดในข้อ 7 ให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่รับเงินค่าทดแทนนั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางวิศวกรรมที่ รฟม. กำหนดเพื่อความปลอดภัยของโครงสร้างของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งข้อกำหนดทางวิศวกรรมดังกล่าว ในปัจจุบันนี้ ได้แก่ ประกาศองค์การรถไฟฟ้ามหานคร เรื่อง ข้อกำหนดทางวิศวกรรมเกี่ยวกับการใช้ที่ดินของเจ้าของ หรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในอสังหาริมทรัพย์ ตามโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) ในกรณีที่มีการก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน ลงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2543--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ