กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ซอฟต์แวร์พาร์ค
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย(Software Park Thailand) ร่วมกับ ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เตรียมจัดงานสัมมนาวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ Software Park Annual Conference 2011 ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยสู่เวทีอาเซียนในปี 2015” หวังยกระดับความรู้ ทักษะ เสริมสร้างเครือข่าย พร้อมเผยแพร่ผลงาน ศักยภาพผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย สู่เวทีนานาชาติ ในวันที่ 13 กันยายน 2554 นี้ ณ ห้องบอลรูม ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ซอฟต์แวร์พาร์คเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง งานสัมมนาวิชาการประจำปีของซอฟต์แวร์พาร์คปีนี้ หรือ Software Park Annual Conference 2011 จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้แนวคิด “การเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยสู่เวทีอาเซียนในปี 2015” เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมให้ทั้งภาคธุรกิจและบุคลากรในวงการไอทีตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่เวที AEC2015
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า หากขาดการเตรียมพร้อมและการปรับตัวที่ดี อุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบเชิงลบค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน แรงงานที่มีความสามารถอาจเคลื่อนไปสู่องค์กรขนาดใหญ่ในอาเซียนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ในทางกลับกัน ช่วง 3 ปีครึ่งจากนี้ หากอุตสาหกรรมไอทีไทยร่วมมือกันวางแผน และปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เชื่อว่า AEC2015 จะกลายเป็นโอกาสทางการตลาดและเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมไอทีไทยอย่างแท้จริง
กิจกรรมในงานจะประกอบไปด้วย ส่วนนิทรรศการ บูธแสดงสินค้าและบริการของเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำ ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ศูนย์ฝึกอบรมด้านไอที และอื่นๆ การสัมมนาเชิงวิชาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน รวมถึง หอเกียรติยศ Software Park Thailand: Hall of Fame 2011 ซึ่งเป็นการประกาศเกียรติคุณผู้ทำประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมไอทีในระดับประเทศ
ดร.ประสบโชค ประมงกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไมโครซอฟท์(ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยว่า AEC 2015 เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะปักธงในอาเซียน และเป็นการส่งสัญญาณไปสู่ประชาคมโลก โดยในการสร้างความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการมีปัจจัยหลัก 3 ประการคือ 1.คน.2.ตลาด 3.ไอซีที ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยนั้นมองว่า เป็นวาระแห่งชาติที่การผลักดันเป็นภารกิจของประเทศซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน โดยต้องพัฒนาคนให้เก่ง ทำตลาดให้กว้าง และพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวไกล ทั้งนี้ต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง อาจทำเป็นรูปแบบคลัสเตอร์ในแต่ละSolution หรือการสร้างมูลค่าตลาดให้มากขึ้น
คุณเจนวิทย์ คราประยูร ผู้จัดการทั่วไป True Internet Data Center.,Ltd. (True IDC) เปิดเผยว่า สิ่งที่ Technology vendor ต้องเตรียมรับมือกับ AEC2015 ที่กำลังจะมาถึงคือ การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เพราะเมื่ออาเซียนเป็นตลาดเดียวกันแล้วก็จะทำให้ตลาดด้านเทคโนโลยีมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย สินค้า บริการ ทุนและแรงงานวิชาชีพที่มีฝีมือจะสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระทั่วภูมิภาคซึ่งอาจส่งผลให้แรงงานวิชาชีพสำคัญของไทยอาจเลือกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลตอบแทนสูง นอกจากนี้ประเทศไทยอาจเสียประโยชน์ประเทศอื่นๆในอาเซียนเพราะมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี กฏหมาย และขีดความสามารถของบุคลากร รวมทั้งมีโอกาสได้รับผลกระทบจากากรเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในไทยมากขึ้น จากปกติที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติมากอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเกิดการแข่งขันรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นนอกจาก Technology vendor ทั้งหลายต้องพยายามรักษาบุคลากรแรงงานที่มีฝีมือในบริษัทของตนแล้ว ขณะเดียวกันยังมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเหล่านั้นควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันก็ควรดำเนินการตลาดแบบเชิงรุกกลับคู่แข่งเช่นกัน อาทิ การสนับสนุนให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของ network ในภูมิภาค โดยจูงใจให้ผู้ให้บริการเครือข่ายระหว่างประเทศเข้ามาตั้ง node ในประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง Content ในภูมิภาค
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSC Solution Co.,Ltd. และกรรมการกิจการอาเซียนสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยต้องเตรียมปักธงว่าจะมีความโดดเด่นด้านไหนหากเปิดตลาดอาเซียน การเตรียมตัวที่จะเป็นอันดับหนึ่งของตลาดนอกจากผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมพร้อมแล้วต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและต้องทำงานร่วมกันกับสมาคมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยพร้อมที่จะแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ
นายปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง ACIS Professional Center Co., Ltd. เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญคือภาครัฐควรสนับสนุนการสอบใบรับรองความสามารถของบุคลากรไอทีของไทย โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณบางส่วนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการวัดความรู้ความสามารถของบุคลากรทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลของประเทศอาเซียนมีการตื่นตัวและพัฒนาบุคลากรด้านไอทีกันแล้ว จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งผลักดันให้มีการวัดระดับความสามารถบุคลากรไทยเพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ
นายอดิเรก ปฏิทัศน์ นายกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย(ATCI) เปิดเผยว่า ภาครัฐควรช่วยให้ความรู้ด้านกฎระเบียบและข้อบังคับของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงสำรวจความต้องการของตลาด IT และ IT Services เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อม รวมถึงการส่งเสริมและให้การฝึกอบรมในการใช้ภาษาอังกฤษ (Intensive English Program) เพื่อการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ภาครัฐควรมีการจัดสัมมนา และเชิญผู้รู้ในอุตสาหกรรม IT และ IT Services มาร่วมให้ข้อมูลในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความตื่นตัว และพร้อมที่จะแข่งขันในอีก 3 ปีข้างหน้า
นายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ATSI) เปิดเผยว่า การเตรียมรับมือ AEC 2015 สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ATSI ได้เตรียมรับมือหลายรูปแบบ และได้จัดทำมาตรการรองรับในรูปของระเบียบ ข้อกำหนด เงื่อนไข การตรวจสอบ การรับรอง ฯลฯ ที่อยู่ในรูปแบบที่ปฏิบัติได้ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคซอฟต์แวร์ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เช่น การออกใบรับรองคุณภาพ และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ การกำหนดความสามารถ-คุณภาพของซอฟต์แวร์ในระดับต่างๆ การออกใบรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ และที่สำคัญคือการรวมตัวของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เฉพาะด้านในการร่วมกันคิดและผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
ดร.พีรสัณห์ บุณยคุปต์ นายกสมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย(TSEP) เปิดเผยว่า AEC 2015 จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ใน 2 เรื่องหลักคือ เงินลงทุนที่จะหมุนเวียนไหลเข้าและออก โดยจะมีเงินลงทุนเข้ามาในบริษัทไอทีของไทย ทั้งจากในประเทศกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องเตรียมรับมือ อีกเรื่องคือ บุคลากร จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศหรือเมืองที่มีศักยภาพในการทำงาน มีค่าจ้างที่อยู่ได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องมีการเตรียมรับมือที่จะทำให้ประเทศ หรือ บางพื้นที่ของประเทศไทยมีอินฟาสตรัคเจอร์ที่จะมารองรับและดึงดูดคนที่มีศักยภาพและประสบการณ์ ให้มาทำงาน เพราะเมื่อเปิดตลาดปรากฏการณ์สมองไหลก็จะเกิดขึ้น
พลาดไม่ได้กับงาน สัมมนาวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ Software Industry towards ASEAN Economic Community-AEC 2015 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน2015 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 13 กันยายน 2554 นี้ พร้อมพบกับ แบไต๋ไฮเทคทอล์คโชว์ ตอน App ไทยไป App โลก พบ หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ จิ๊กโก๋ไอทีพี่หลาม อาจาร์ยศุภเดช ที่จะมาล้วงลึกวงการแอพตู้ที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของการพัฒนาแอพลิเคชั่นไทยบน Smart Device ต่างๆ ร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาแบบเจ็บๆคันๆมันส์ๆในสไตล์แบไต๋ไฮเทค 1ชม.เต็มอิ่มในงาน
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย : โทรศัพท์ 0 2583 9992 ต่อ 1420-5: โทรสาร 0 2583 2884