กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ปภ.
ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 10 จังหวัด พร้อมเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย พิษณุโลก จันทบุรี ตราดและแม่ฮ่องสอน เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใน 4 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เตรียมการป้องกันภาวะ น้ำล้นตลิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ พร้อมสั่งกำชับจังหวัดนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมจัดทำหลักแสดงแนวเขตไหล่ถนน และป้ายเตือนจุดที่ถนนชำรุดให้ชัดเจน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากรถตกไหล่ทาง
นายภานุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 10 จังหวัด รวม 50 อำเภอ 344 ตำบล 2,136 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 214,915 ครัวเรือน 414,055 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี สิงห์บุรี และชลบุรี ผู้เสียชีวิต 61 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,370,446 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 45,931 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2,096,219 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 5 สาย ใน 3 จังหวัด ทางหลวงชนบท 26 สาย ใน 9 จังหวัด สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีปริมาณน้ำมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
นายภานุ กล่าวต่อไปว่า ในระยะ 2 — 3 วันนี้ จะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว จังหวัดน่าน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราดและจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพดินมีความชุ่มน้ำอยู่แล้ว อาจเกิดปัญหาดินสไลด์ได้ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังและระมัดระวังอันตรายจากน้ำป่า ไหลหลากและดินถล่มด้วย และจากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทาน พบว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาเตรียมการป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยเสริมแนวคันกั้นน้ำ พร้อมขนย้ายสิ่งของ ขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
ทั้งนี้ ศอส.ได้กำชับให้จังหวัดประสานงานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย สำหรับจังหวัด ที่ถนนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ให้จัดทำหลักแสดงแนวเขตไหล่ถนน และป้ายเตือนจุดที่ถนนชำรุดให้ชัดเจน รวมถึง จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรหรือจัดทำป้ายสัญญาณไฟจราจรชั่วคราว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากรถตกไหล่ทาง ตลอดจนให้ทุกจังหวัดที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยออกสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ เพื่อวางแผนตรวจเยี่ยมและ ให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีญาติดูแล ให้นำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล