กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 29 ส.ค. — 2 ก.ย. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 108.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 113.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เพิ่มขึ้น 2.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 88.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 6.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 129.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 4.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 126.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Purchasing Managers' Index : PMI) ของประเทศจีนในเดือน ส.ค. 54 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.2 จุด
- Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ 99.50 ล้านบาร์เรลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 2.6%
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานการใช้จ่ายผู้บริโภค (Consumer Spending) ในเดือน ก.ค. 54 เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน 0.8% และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน (เดือน มิ.ย. 54 ลดลง 0.1%)
- พายุโซนร้อน Katia มีแนวโน้มสูงที่จะทวีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนประกอบกับความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวขึ้นในบริเวณอ่าวเม็กซิโกมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อนซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อแหล่งผลิตน้ำมันส่งผลให้อุปทานน้ำมันในบริเวณดังกล่าวตึงตัว ซึ่งฤดูเฮอริเคน (Hurricane Season) ของสหรัฐฯ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. จะมีการก่อตัวของพายุประมาณ 11-12 ลูก ทั้งนี้พายุ Katia ถือเป็นพายุลูกที่ 11 ของปีนี้
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- 29 ส.ค. 54 คณะปฏิวัติในลิเบียเข้าควบคุมแหล่งผลิตน้ำมันของประเทศได้ทั้งหมด โดยนาย Nouri Balroin เจ้าหน้าที่ระดับสูงของของสภาถ่ายโอนอำนาจของลิเบียหรือ National Transitional Council กล่าวว่าลิเบียจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบภายใน 3 สัปดาห์ และกลับมาสู่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 15 เดือน
- OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 30.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เป็นปริมาณผลิตสูงที่สุดในรอบ 3 ปี
- กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ 10.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.17%นับเป็นการผลิตระดับสูงสุดภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534
- Ministry of Finance ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ 100.84 ล้านบาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.2%
- ตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปยังคงเปราะบางโดยสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (European Union's Statistical Office, Eurostat) รายงานตัวเลขผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 61,000 ราย อยู่ที่ 15.7 ล้านคน อัตราว่างงานเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 10% และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(Purchasing Managers' Index : PMI) ของยุโรปในเดือน ส.ค. 54 ลดลงอยู่ที่ระดับ 49 จุด เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี นอกจากนี้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่สำคัญในเดือน ส.ค. 54 ลดลง อาทิเช่น เยอรมนีอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน, ฝรั่งเศสที่ระดับ 49.1 จุด ต่ำสุดในรอบ 25 เดือน, เนเธอร์แลนด์อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน, อิตาลีอยู่ที่ระดับ 47.0 จุด ต่ำสุดในรอบ 24เดือน และสเปนอยู่ที่ระดับ 45.3 จุด ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันน้ำมันดิบ และDistillate เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 54 เพิ่มขึ้น 5.30 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 357.1 ล้านบาร์เรล และ 0.40 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 156.10 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ
- The Conference Board รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 54 ลดลงจากเดือนก่อน 14.70 อยู่ที่ระดับ 44.50 จุด เป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 52 และเป็นการปรับลดลงต่อเดือนมากที่สุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 51
ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 110-118 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและ 83-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ จากความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ หลังจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรไม่ขยายตัวทั้งนี้อัตราว่างงานของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 9.1% ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง นอกจากนี้นักลงทุนมีความกังวลต่อการชะลอตัวของภาคการผลิตในยุโรปซึ่งอาจทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง ขณะที่ลิเบียมีแนวโน้มกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบได้เร็วขึ้น หลังจากประเทศและองค์กรนานาชาติกว่า 60 แห่ง ยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลพันเอก Muammar Gaddafi ในประเทศต่างๆ มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่สภาการถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติลิเบีย เพื่อเป็นกองทุนในการฟื้นฟูประเทศ อีกทั้งสหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร 28 บริษัทลิเบีย ประกอบไปด้วยบริษัทน้ำมัน, ธนาคาร, สายการบิน รวมถึงท่าเรือหลายแห่ง อย่างไรก็ตามให้ติดตามการเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อสภาครองเกรสในวันที่ 8 ก.ย. 54 และจับตาอิทธิพลของพายุเฮริเคนหากพัดผ่านบริเวณแหล่งผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัว ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อราคาน้ำมัน