กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน (เจ้าหน้าที่การตลาด) 2 ราย ได้แก่ (1) นางวนิดา สร้อยทอง เนื่องจากไม่บันทึกเทปแสดงที่มาของคำสั่งจากลูกค้าให้ครบถ้วน (2) นายจินดาวัฒน์ จงสุขกลาง เนื่องจากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุน โดยสั่งพักเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 และตำหนิผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนอีก 2 ราย ได้แก่ (1) นางสาวศรีศุภลักษณ์ รอดอริ และ (2) นายสุรัตน์ บุญรัตน์ กรณียุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุน
กรณีนางวนิดา สร้อยทอง ก.ล.ต. ได้รับการชี้เบาะแสว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด รายนางวนิดามีการปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม และจากการตรวจสอบพบว่า นางวนิดาส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในบัญชีลูกค้าโดยไม่มีที่มาของคำสั่งจากลูกค้าอย่างต่อเนื่องและในจำนวนที่สูงมาก ซึ่งนางวนิดายอมรับว่ารับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่านางวนิดามีเจตนาหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์ในเรื่องการจัดเก็บบันทึกการให้คำแนะนำและการรับคำสั่งซื้อขาย เนื่องจากพบว่ามีการติดต่อ พูดคุย กับลูกค้าอยู่เป็นประจำผ่านระบบบันทึกเทป และอยู่ในวิสัยที่จะรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากลูกค้าผ่านระบบบันทึกเทปได้
การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนตามข้อ 14(7) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข. 49/2552 เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนและมาตรฐานการปฏิบัติงาน ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข. 50/2552 เรื่อง การให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและมาตรฐานการปฏิบัติงาน ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ก.ลต. จึงสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนของนางวนิดา เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2554 เป็นต้นไป
กรณีนายจินดาวัฒน์ จงสุขกลาง ก.ล.ต. ได้รับรายงานจากบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)ว่าลูกค้าร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของนายจินดาวัฒน์ที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ได้สั่ง ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย ซึ่ง ก.ล.ต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า นายจินดาวัฒน์ตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้า โดยส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีก่อนแล้วค่อยแจ้งให้ลูกค้าทราบภายหลัง และได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีลูกค้าต่อวันในปริมาณค่อนข้างสูงและทำต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน การกระทำของนายจินดาวัฒน์เป็นการยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า
กรณีนางสาวศรีศุภลักษณ์ รอดอริ ก.ล.ต. ได้รับข้อร้องเรียนจากลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งว่านางสาวศรีศุภลักษณ์ได้ส่งคำสั่งขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้า โดยที่ลูกค้าไม่ได้สั่ง ซึ่ง ก.ล.ต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้าที่ลูกค้ามิได้เป็นผู้ส่งคำสั่ง ซึ่งพิจารณาได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนผู้ลงทุนและเป็นการยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุน การกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน
กรณีนายสุรัตน์ บุญรัตน์ ก.ล.ต. ได้รับข้อร้องเรียนจากลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งว่านายสุรัตน์ได้สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ได้สั่งและไม่เคยรู้จักหลักทรัพย์ดังกล่าว จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า มีการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้ลูกค้าแล้วจึงแจ้งให้ลูกค้าทราบภายหลัง โดยไม่พบที่มาของคำสั่งจากลูกค้า การกระทำนี้พิจารณาได้ว่าเป็นการยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน
การกระทำของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนทั้งสามรายข้างต้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานข้อ 14(2)แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข. 49/2552 ซึ่งผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนต้องให้ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยตนเองเท่านั้น ก.ล.ต. จึงได้สั่งพักนายจินดาวัฒน์จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 และได้ลงโทษตำหนินางสาวศรีศุภลักษณ์และนายสุรัตน์ พร้อมทั้งบันทึกพฤติกรรมไว้ประกอบการพิจารณาหากมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานอีก
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต. กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่การตลาดจะต้องบันทึกเทปคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์และการสนทนากับลูกค้าไว้ทุกครั้ง เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหน้าที่การตลาดและลูกค้า หากมีการโต้แย้งหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งการบันทึกเทปการติดต่อกับลูกค้าเป็นหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่ประเทศต่าง ๆ บังคับใช้อย่างเคร่งครัดการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนแล้วแจ้งให้ลูกค้าทราบในภายหลังเป็นการกระทำผิดมาตรฐานและจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ บ่อยครั้งที่ทำให้เกิดความเสียหายและนำไปสู่การโต้แย้ง หรือร้องเรียนทำให้ผู้ลงทุนขาดความมั่นใจในตลาดทุนโดยรวม ถือเป็นข้อห้ามสำหรับเจ้าหน้าที่การตลาด
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ไม่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่การตลาดรับคำสั่งซื้อขายผ่านอีเมล์สาธารณะต่าง ๆ เช่นทวิสเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบการมีตัวตนของลูกค้าได้ เพราะลูกค้าอาจจะให้รหัสแก่บุคคลอื่นเข้ามาส่งคำสั่งซื้อขายแทน ทั้งนี้ หากลูกค้ามีการส่งอีเมล์ เพื่อทำการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น เจ้าหน้าที่การตลาดควรใช้โทรศัพท์ที่สามารถบันทึกเทปได้ยืนยันการส่งคำสั่งซื้อขาย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าได้มีการส่งคำสั่งซื้อขายดังกล่าวจริง เพื่อเก็บเป็นหลักฐานไว้ด้วย”