ผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554

ข่าวทั่วไป Tuesday September 6, 2011 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 “อนาคตเศรษฐกิจไทย ก้าวอย่างมั่นใจสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (Reshaping the Thai Economy, Reaching the ASEAN Economic Community) วันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2554 ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรม Centara Grand at Central World กรุงเทพฯ ดร. นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 “อนาคตเศรษฐกิจไทย ก้าวอย่างมั่นใจสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (Reshaping the Thai Economy, Reaching the ASEAN Economic Community) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 ณ โรงแรม Centara Grand at Central World กรุงเทพฯ โดยการสัมมนาวิชาการของสศค. ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 และได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษเพื่อเปิดงานในหัวข้อ “การเตรียมพร้อมสำหรับ AEC” ซึ่งได้เน้นว่า การรวมตัวเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยและของภูมิภาคอาเซียน ไทยต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีการดำเนินมาตรการเชิงรุกด้านต่างๆ เพื่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านมาตรการด้านการคลัง การเงิน และการลงทุน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังก็อยู่ในระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง เพื่อเป็นเวทีหลักในการหารือประเด็นที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้งสำนักการเงินการคลังอาเซียนใน สศค. เพื่อเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ ในส่วนของการเสวนาวิชาการนั้น ได้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 การนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “แนวทางการปรับปรุงภาษีเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาซียน” โดย ดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร สำนักนโยบายภาษี สศค. และมี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) และ ดร. สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง อดีตผู้แทนการค้าไทย เป็นผู้วิจารณ์ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้เสนอว่า การเปิดเสรีภายใต้ AEC ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ รวมตลอดจนทุนและแรงงานได้โดยเสรี ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างรายได้ภาษีในแต่ละประเทศสมาชิก ไทยจึงควรทบทวนและพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีอากรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยต้องคำนึงถึง (1) ภาษีศุลกากรที่ลดลงจากการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ (2) การขาดดุลงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันใกล้ และ (3) แนวโน้มการลดอัตราภาษีทางตรงและเพิ่มอัตราภาษีทางอ้อมของประเทศอื่นๆ และได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ (1) ปรับลดอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต และปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ให้สอดคล้องกันโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (2) ปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และ (3) กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงช่วงระยะเวลาที่จะนำมาใช้ ในการนี้ ดร. สุวิทย์ฯ ได้ให้ความเห็นว่า การศึกษาเรื่องนี้น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยควรให้นำประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ มาประกอบใช้ และควรพิจารณาถึงผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีด้วย และ ดร.สุทัศน์ฯ ได้เสนอให้มีการกำหนดเป้าหมายของประเทศที่ชัดเจนและควรลดความซับซ้อนของระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ระบบเศรษฐกิจในอนาคต ช่วงที่ 2 การนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสู่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน” โดย ดร. สิริกมล อุดมผล สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และ ดร. กนต์ธีร์ นุชสุวรรณ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. และมี ดร. ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นผู้วิจารณ์ ซึ่งผลการศึกษาได้ชี้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จพอสมควรในการแก้ปัญหาความยากจน อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงการลดช่องว่างของการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรด้านบริการด้านการเงินแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีความรู้ด้านการเงินน้อย และกลุ่มด้อยโอกาส โดยมีความท้าทาย 2 ด้านหลัก (1) การเข้าถึงบริการด้านการเงินอย่างทั่วถึง (Financial Inclusion) และ (2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสถาบันการเงินระดับฐานราก (Micro Finance) โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรการเงินชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและพึ่งพาตนเองได้ ดร. ลัษมณฯ ได้ให้ความเห็นว่า นอกจากจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน Financial Inclusion แล้ว ประเทศไทยควรเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมต่อผลกระทบจากภายนอก เช่น ผลจากการรวมตัวเป็น AEC และวิกฤติเศรษฐกิจอื่นๆ ช่วงที่ 3 การนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “ภาคการเงินไทย พร้อมก้าวไกลในอาเซียน” โดยนางสาว พรวสา ศิรินุพงศ์ สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค. และมี ดร. บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้วิจารณ์ โดยผลการศึกษาได้แสดงว่า ภาคการเงินของไทยมีระดับการพัฒนาเป็นลำดับที่ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่จะเน้นหนักอยู่ในระบบธนาคารมากกว่าการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี ทิศทางของภาคการเงินไทยภายหลังการเข้า AEC ในปี พ.ศ. 2558 น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ประกอบกับการเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผู้ให้บริการด้านการเงินไทยควรมอง AEC เป็นโอกาสและดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจไทยออกไปยังสมาชิกอาเซียนอื่น โดยเฉพาะการขยายโอกาสทางธุรกิจในภาคการเงินเข้าไปในกัมพูชาและลาวซึ่ง สศค. ได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้แล้ว ดร. บันลือศักดิ์ฯ ให้ความเห็นว่าการเปิดเสรีเป็นเครื่องมือสำคัญในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย และเห็นว่างานการศึกษาของ สศค. เป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยสนับสนุนภาคเอกชนในการขยายโอกาสทางธุรกิจทางการเงินในกัมพูชาและลาว และสนับสนุนให้ สศค. ดำเนินการวิจัยทำนองนี้อย่างต่อเนื่องสำหรับตลาดของประเทศอื่น ช่วงที่ 4 การเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจไทยก่อนและหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร. คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจและการคลัง และรองศาสตราจารย์ ดร. ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมี ดร. นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดย ดร. ฉลองภพฯ ได้กล่าวว่า การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจของไทย จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อมิติของภูมิภาคมากยิ่งขึ้น และได้กล่าวถึง 1) โครงการวิจัยเรื่อง ASEAN 2030 ซึ่ง Asian Development Bank Institute (ADBI) ที่กำลังดำเนินการศึกษา เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางของอาเซียนในปี 2030 โดยได้มองอนาคตของอาเซียนภายหลังจากการเข้าสู่ AEC ว่า อาเซียนยังคงเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญ ในปี 2030 แต่ต้องมีการรวมตัวเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในหลายมิติ เช่น เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในอีก 20 ปีข้างหน้า และ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี (Chiang-Mai Initiative Multilateralization: CMIM) ซึ่งได้เสนอให้เพิ่มสัดส่วน การให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่ไม่เชื่อมโยงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเพิ่มขนาดของ CMIM รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพและบทบาทของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomics Research Office: AMRO) ด้วย ดร. คณิศฯ เห็นว่า ประเทศอาเซียนควรเน้นถึงแนวทางความร่วมมือมากกว่าเน้นเรื่องการแข่งขัน และในส่วนของประเทศไทยนั้น มีศักยภาพสูงในหลายด้าน เช่น ด้านสินค้า ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ด้านการค้าบริการ ได้แก่ บริการด้านสุขภาพ ก่อสร้างและการท่องเที่ยว ด้านแรงงานที่มีคุณภาพสูง และด้านการลงทุนที่มีการเปิดกว้าง อย่างไรก็ตาม เราต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของไทย รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวม นอกจากนี้ ยังได้เน้นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานและอาหาร รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบด้วย ดร. ไพรินทร์ฯ ให้ความเห็นในมุมมองของภาคเอกชน โดยเห็นว่าสิ่งที่ภาคเอกชนจะต้องยอมรับในการเข้าสู่ AEC คือ ระบบเศรษฐกิจการตลาด (Market Economy) ของภูมิภาค โดยจะมีการลดการคุ้มครองและอุดหนุนจากภาครัฐ และเห็นว่า ไทยควรจะให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขัน โดยการสร้างพันธมิตรทางการค้าและการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกระหว่างประเทศสมาชิกใกล้เคียง (Continental ASEAN) เพื่อเป็นช่องทางขยายตลาดไปสู่จีนและอินเดีย ดร.ภาณุพงษ์ฯ ได้ให้ความเห็นว่าความท้าทายและความเสี่ยงที่จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเข้าสู่ AEC โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของการเคลื่อนย้ายเงินทุน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออก ความเสี่ยงทางด้านการคลังและการเงิน ดังนั้น ไทยจึงต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการคลังจะต้องมีวินัยทางการคลัง และการลงทุนของภาครัฐจะมีผลตอบแทนสูง เช่น การลงทุนในภาคการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐาน และในส่วนของนโยบายการเงินของไทยนั้นจะต้องมีความยืดหยุ่นและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีอิสระในการดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ สศค. จะนำผลงานวิจัย ข้อเสนอแนะและข้อวิจารณ์ต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนางานและประกอบการออกแบบนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อ่ไป สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02-273-9020 ต่อ 3612 , 3314 * ผลการศึกษาและการวิจัยที่นำเสนอข้างต้น เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ทำการวิจัย จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ