รายงานผลการดำเนินงานโครงการธนาคารประชาชน ครบรอบ 1 ปี

ข่าวทั่วไป Wednesday July 31, 2002 13:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--สำนักโฆษกฯ
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานโครงการธนาคารประชาชน ครบรอบ 1 ปี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอสรุปได้ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานในช่วงเดือนมิถุนายน 2544 - มิถุนายน 2545
1.1 ด้านการรับสมาชิก
ข้อมูล ณ สิ้นวันทำการ 25 มิถุนายน 2544 (เปิดโครงการวันแรก)
- จำนวนสมาชิก 176,489 ราย
- จำนวนเงินฝากรวม 281,927,292 บาทข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2545
- จำนวนสมาชิก 525,874 ราย
- จำนวนเงินฝากรวม 1,345,910,274 บาท
1.2 ด้านการให้สินเชื่อ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2545)
- จำนวนสมาชิกที่ขอกู้ 402,121 ราย
- จำนวนสมาชิกที่ได้รับสินเชื่อ 351,974 ราย
- จำนวนเงินให้สินเชื่อ 5,276,078,754 บาท
- สินเชื่อรับชำระคืน 2,620,609,942 บาท
- สินเชื่อคงเหลือ 2,655,468,812 บาท
จำนวนสมาชิกที่ยื่นขอกู้คิดเป็นร้อยละ 76.47 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และจำนวนสมาชิกที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ คิดเป็นร้อยละ 87.53 ของจำนวนสมาชิกที่ขอกู้ทั้งหมด
1.3 ด้านหนี้ค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2545)
- จำนวนเงินที่ค้างชำระ 104,530,630.47 บาท
- จำนวนสมาชิกที่ค้างชำระ 9,870 ราย
- หนี้ค้างชำระเทียบกับเงินสินเชื่อคงค้างทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 4.13
1.4 ด้านการรับฝากเงินนอกสถานที่ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2545)
- จำนวนครั้งที่ออกรับฝากเงิน 51,693 ครั้ง/เดือน
- จำนวนเงินที่ออกรับฝาก 7,584.89 ล้านบาท
2. การดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิก และระบบงานการให้บริการได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ดังนี้
2.1 การพัฒนาบุคลากร ได้ดำเนินการสัมมนาพนักงาน ผู้บริหารสาขา และจัดฝึกอบรมพนักงานลูกจ้างโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งทำหน้าที่ในการให้บริการแก่ประชาชนผู้มาติดต่อขอใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 ด้านการพัฒนาสมาชิกธนาคารประชาชน ได้มีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และศักยภาพในการบริหารจัดการแก่สมาชิกโครงการธนาคารประชาชน ได้จัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ จัดอบรมบัญชี และจัดทำกระบวนการกลุ่ม (Nucleus) เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการประกอบอาชีพ ได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดนนทบุรี
2.3 การพัฒนาระบบงาน โครงการธนาคารประชาชนได้มีการพัฒนาระบบงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบงานสินเชื่อ (Online) ระบบฐานข้อมูล ระบบหักบัญชีเพื่อชำระหนี้เงินกู้อัตโนมัติ และระบบตรวจสอบการกู้เงินซ้ำซ้อนโดยใช้เลขหมายบัตรประจำตัวประชาชน (ID)
3. ปัญหาและอุปสรรคและแนวทางแก้ไข
3.1 ปัญหาและอุปสรรค
1) ประชาชนบางกลุ่มไม่ใช่คนในท้องถิ่น แต่มาประกอบกิจการในต่างพื้นที่ อาจมีการย้ายสถานประกอบธุรกิจได้โดยง่าย
2) ประชาชนบางกลุ่มมีการประกอบอาชีพจริง แต่ประสบปัญหาในด้านค่าใช้จ่ายสูง รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ไม่สามารถชดใช้หนี้คืนธนาคารได้ตามกำหนด
3) สถานที่ประกอบการอยู่ในบริเวณสถานบริการตอนกลางคืน สถานเริงรมย์ พนักงานต้องอยู่ในสภาวะค่อนข้างเสี่ยง ในการไปสำรวจกิจการ
3.2 แนวทางแก้ไข
1) มีการตรวจสอบสถานที่ประกอบการว่ามีการประกอบกิจการจริง และระยะเวลาประกอบ การนานเพียงใด
2) ต้องมีการออกสำรวจด้วยความระมัดระวัง มีการรวมกลุ่มกันออกสำรวจ
4. การบริหารความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ
4.1 ทำความเข้าใจกับลูกค้าให้ชัดเจน ในเรื่องของเงื่อนไขในการกู้ยืม การผ่อนชำระ การค้ำประกันเพื่อให้ลูกค้าปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
4.2 การกู้เงินโดยเน้นวัตถุประสงค์ เพื่อการประกอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ และพิจารณาอนุมัติโดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระคืน และความน่าเชื่อถือ
4.3 ให้กู้แก่ผู้ขอกู้แต่ละรายในครั้งแรกด้วยจำนวนเงินน้อยก่อน จะขยายวงเงินกู้สำหรับลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดีในการขอกู้ครั้งต่อไป
4.4 มีการติดตามการใช้เงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และการชำระคืนอย่างต่อเนื่อง
4.5 มีพนักงานออกรับฝากเงินนอกสถานที่ ณ สถานประกอบการของลูกค้าทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
4.6 ธนาคารควรมีการพิจารณาให้ประกันชีวิตให้แก่สมาชิกที่รับเงินกู้ทุกราย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกรณีลูกค้าตาย
4.7 พัฒนาศักยภาพของพนักงานในการให้บริการและการวิเคราะห์ เพื่อให้สินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ
4.8 มีการให้คำปรึกษาแนะนำหรือการฝึกอบรมเกี่ยวกับอาชีพที่จำเป็นสำหรับสมาชิก เพื่อให้มีความรู้ ความชำนาญ เพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพ
4.9 การใช้บุคคลค้ำประกันที่มีความน่าเชื่อถือ จะเป็นการกลั่นกรองสมาชิกที่ขอกู้ให้มีความน่าเชื่อถือสูงขึ้น
4.10 มีศูนย์ข้อมูลสินเชื่อ เพื่อตรวจสอบการกู้ซ้ำก่อนอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้าแต่ละราย
4.11 มีระบบการรายงานผลการดำเนินงานของสาขา เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
5. แนวทางการติดตามและแก้ไขหนี้สินเชื่อธนาคารประชาชน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 แนวทางแก้ไขหนี้ก่อนเกิดหนี้ค้างชำระให้สาขาปฏิบัติ ดังนี้
1. ออกรับฝากเงินนอกสถานที่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
2. ให้คำปรึกษาและแนะนำการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคให้แก่ลูกค้า
ขั้นตอนที่ 2 วิธีการในการเร่งรัดหนี้ค้างชำระให้สาขาปฏิบัติ ดังนี้
1. เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ 1-3 งวด ให้ใช้วิธีโทรศัพท์ตามหนี้ค้างชำระเป็นวิธีการแรก
2. หลังจากดำเนินการตามข้อ 1 หรือเมื่อวิธีการใช้โทรศัพท์ไม่ได้ผล ให้สาขาส่งพนักงานออกติดตามทุกวิถีทางให้พบลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันให้ได้ เพื่อเจรจาประนอมหนี้และแก้ไขหนี้ค้างชำระ
3. กรณีลูกหนี้ยังเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามข้อ 2 ให้จัดทำหนังสือเตือนให้ชำระหนี้เงินกู้โดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระ (โดยสาขาแต่ให้นิติกรภาคลงสนาม) ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวให้ผู้ค้ำประกัน
4. เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือเตือน ให้ส่งเรื่องให้ศูนย์ธุรกิจสินเชื่อและบริการ หรือธนาคารออมสินภาคพิจารณาดำเนินการเมื่อดำเนินการในข้อ 1-3 ของขั้นตอนที่ 2 ได้ผลวิธีการแก้ไขหนี้ค้างชำระ กรณีลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ขอประนอมหนี้หรือแก้ไขหนี้ค้างชำระในขั้นตอนการเจรจาประนอมหนี้หรือแก้ไขหนี้ค้างชำระให้สาขาดำเนินการตามวิธีแก้ไขหนี้ หรือใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสินเชื่อสาขา ดังนี้
1. ให้ลูกหนี้จัดทำหนังสือรับสภาพหนี้
2. จัดทำรายงานสรุปผลการแก้ไขหนี้ค้างชำระตามวิธีการในการแก้ไขหนี้ค้างชำระ ดังนี้
วิธีที่ 1 ยกเว้นดอกเบี้ยส่วนที่ปรับ และให้ลูกหนี้ชำระหนี้ที่ค้างชำระจนถึงงวดปัจจุบันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
วิธีที่ 2 ขยายระยะเวลาการรับชำระหนี้
วิธีที่ 3 ปลอดชำระหนี้ (เงินต้น)
วิธีที่ 4 ลดจำนวนเงินงวด
ขั้นตอนที่ 3 กรณีที่สาขาแก้ไขหนี้ไม่ได้ ให้สาขาส่งเรื่องให้ศูนย์สินเชื่อและธุรกิจเพื่อดำเนินการ ดังนี้
1. โทรศัพท์ตาม/ หรือส่งพนักงานติดตามหนี้ค้างชำระ
2. กรณีที่แก้ไขหนี้ได้ให้ส่งเรื่องให้สาขาต้นเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2
3. กรณีที่แก้ไขหนี้ไม่ได้ให้ส่งเรื่องให้ธนาคารออมสินภาคดำเนินการตามกฎหมาย
ขั้นตอนที่ 4 กรณีที่ศูนย์ธุรกิจสินเชื่อและบริการ แก้ไขหนี้ไม่ได้ให้ส่งเรื่องให้ธนาคารออมสินภาคเพื่อดำเนินการ ดังนี้
1. ให้ธนาคารออมสินภาคจัดทำหนังสือเตือนภายใน 15 วัน
2. กรณีที่ลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้ตามหนังสือเตือนให้แจ้งบอกเลิกสัญญานับตั้งแต่หลังได้รับหนังสือเตือนแล้ว 15 วัน
3. กรณีที่ลูกหนี้มาเจรจาขอแก้ไขหนี้ให้ส่งเรื่องให้สาขาต้นเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2 กรณีแก้ไขหนี้ไม่ได้ให้ฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายโดยนิติกรภาค หรือสำนักทนายความที่กำหนด
6. แนวทางการดำเนินงานของธนาคารประชาชน มีดังนี้
6.1 ธนาคารมีการแยกบัญชีของโครงการธนาคารประชาชน เพื่อให้ทราบค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงานของธุรกรรม
6.2 ทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อธนาคารประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง
7. ทิศทางในการดำเนินงานปี 2546
7.1 ด้านการพัฒนาบุคลากร
1) จัดสัมมนาพนักงานธนาคารออมสินภาค ศูนย์ธุรกิจสินเชื่อและบริการ และสาขาให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินงานของสำนักธนาคารประชาชน
2) จัดอบรมพัฒนาพนักงานสาขาที่เกี่ยวข้องให้ทราบ วิธีการทำงานในการสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกโครงการ (Relationship)
3) จัดให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ เดินทางศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
7.2 ด้านสมาชิก
1) แนะนำให้มีการออมทรัพย์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
2) ติดตามการใช้เงินกู้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยการออกรับเงินฝากนอกสถานที่
3) ติดตามสมาชิกที่ยังไม่ได้ยื่นขอกู้
4) ขยายฐานลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน ชมรม/สมาคมที่ประกอบอาชีพให้บริการ กลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ลูกจ้างของหน่วยราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนที่มีรายได้ประจำ
5) ได้รับเอกสารแนะนำอาชีพที่ตนสนใจ
7.3 ด้านการพัฒนาอาชีพ
1) ออกแบบสอบถามสมาชิก เพื่อทราบความต้องการเกี่ยวกับอาชีพที่สมาชิกสนใจต้องการเรียนรู้
2) จัดฝึกอบรมด้านอาชีพให้ตรงตามความต้องการของสมาชิก โดยขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา กรมการพัฒนา
3) จัดสัมมนาสมาชิกที่มีความเป็นผู้นำ เพื่อให้เข้าใจวิธีการทำกระบวนการกลุ่ม (Nucleus)
4) จัดอบรมหลักการตลาด และการบริหารจัดการให้สมาชิก
จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ธนาคารมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าสู่ระบบโครงสร้างทางการเงินที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระดับ และส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพรายย่อย ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจพื้นฐานให้กระจายไปอย่างทั่วถึง ให้มีเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอย่างยุติธรรมและหลุดพ้นจากวงจรการกู้เงินนอกระบบ เพื่อเป็นการสร้างรากฐาน และยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ