กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--พม.
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการรับมอบข้อเสนอจากการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๔ จัดโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ระหว่างครอบครัวและผู้แทนจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และนำข้อเสนอแนะจากสมัชชาดังกล่าวไปสู่การพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ครอบครัวไทยในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม เกิดรูปแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เป็นครอบครัวลักษณะพิเศษที่มีรูปแบบลักษณะเฉพาะตัว มีสภาพปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกัน โดยมีประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณา ๕ ประเด็น ได้แก่ ๑.) ด้านเด็กและเยาวชน ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และขาดความพร้อมในการตั้งครรภ์ ๒.) ด้านสัมพันธภาพในครอบครัว การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวที่ไม่มีคุณภาพและน้อยลง ๓.) ด้านครอบครัวลักษณะเฉพาะ คือ ครอบครัวที่ผู้สูงอายุและเด็กอยู่ตามลำพัง ๔.) ด้านเครือข่ายและชุมชน ซึ่งทำงานส่งเสริมครอบครัว ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ๕.) ด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัย เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสื่อที่สร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับครอบครัวน้อยเกินไป ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่อย่างปกติสุขของครอบครัวสังคมไทย
นายสันติ กล่าวต่อว่า จากการประชุมดังกล่าว คณะตัวแทนสมัชชาครอบครัว ๗๕ จังหวัด ได้มีมติข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาในการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ดังนี้ ๑.) ให้มีการร่วมมือกันในการสร้างกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ที่ปฏิบัติได้จริง ได้แก่ โครงการเด็กแนะนำเด็ก-ผู้ปกครองแนะนำผู้ปกครอง โครงการโรงเรียนพ่อแม่ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก โครงการครอบครัวในโรงเรียน ควบคู่ไปกับการสร้างทักษะของพ่อแม่ว่าด้วยการป้องกันการตั้งครรภ์วัยรุ่นที่ไม่พร้อม ๒.) ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีระบบเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง สร้างฐานข้อมูลครอบครัวที่เป็นปัจจุบัน การพัฒนาสภาพแวดล้อม พื้นที่สาธารณะและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สำหรับครอบครัวกลุ่มเฉพาะ สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการครอบครัวและการปฏิบัติงานของสตรีที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการคุ้มครองสภาพการจ้างและได้รับสิทธิภายใต้ระบบประกันสังคมอย่างเป็นธรรม ๓.) สนับสนุนการสร้างงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนให้มีสถานที่เลี้ยงเด็กเล็กในทุกหมู่บ้านที่ดำเนินการโดยภาคประชาชน และให้ผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก ๔.) บูรณาการการทำงานด้านครอบครัวร่วมกันโดยให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.) และคณะกรรมการชุมชนของกรุงเทพมหานคร เป็นกลไกหลักในการพัฒนาครอบครัวในระดับตำบล/เทศบาล และชุมชน ๕.) ส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ร่วมกันของคนในครอบครัว ส่งเสริมให้เกิดเนื้อหาสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมสร้างสรรค์ การติดตามเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายด้านสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ.