กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--องค์กรมหาชน
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ย้ายที่ทำการใหม่สู่ศูนย์กลางธุรกิจของเมืองไทย อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม บนพื้นที่ 2,600 ตารางเมตร เพิ่มความสะดวกคล่องตัวให้กับกลุ่มนักธุรกิจ รองรับความต้องการบริการ การตรวจสอบอัญมณี ฝึกอบรม และบริการข้อมูลด้านอัญมณี กลุ่มลูกค้าไทย-ต่างประเทศ โดยสถาบันแห่งนี้ถือเป็นสถาบันแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย และเป็น 1 ใน 5 สถาบันวิจัยอัญมณีของโลก
นางวิลาวัณย์ อติชาติ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) The Gem and Jewelry Institute of Thailand (Public Organization) หรือ GIT เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ GIT ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับให้กับกลุ่มนักธุรกิจผู้ค้าอัญมณีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลา 8 ปีของการให้บริการ พบว่ามีผู้ให้ความสนใจเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มนักธุรกิจที่เตรียมตัวเข้าสู่ธุรกิจอัญมณี เข้ารับการฝึกอบรมกับสถาบันเพิ่มขึ้น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้สถานที่เดิมไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ สถาบันจึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มพื้นที่การให้บริการ และในปีนี้ สถาบันจึงได้ย้ายที่ทำการแห่งใหม่ มายัง อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์กลางธุรกิจของประเทศไทย ภายใต้ภาระกิจของสถาบัน คือการวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับการพัฒนาคุณภาพบุคคลากร และการเป็นศูนย์ข้อมูลอัญมณีละเครื่องประดับ และ ภายใต้ วิสัยทัศน์ “เป็นสถาบันหลักของชาติในการพัฒนาและส่งเสริม สนับสนุน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”
ที่ทำการแห่งใหม่จะมีพื้นที่บริการที่กว้างขวางกว่าสถานที่เก่า 4 เท่า บนขนาดพื้นที่ 2,600 ตารางเมตร ตกแต่งสไตล์โมเดิร์น ประกอบด้วย ส่วนการให้บริการข้อมูลข่าวสารอัญมณี พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์วิเคราะห์อัญมณี และที่ทำการออฟฟิส ดังนี้คือ ชั้น 1 จะเป็นพื้นที่บริการและเป็นที่ตั้งของห้องสมุด ซึ่งจะรวมรวมหนังสือด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วทุกมุมโลก ขั้น 2 เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่รวมรวมงานแสดงอัญมณี โลหะ หายาก ชั้น 3 ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ ประกอบด้วย ห้องเรียนและฝึกอบรมสำหรับผู้ใช้บริการ ชั้น 4 -5 เป็นห้องปฎิบัติการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า และ ชั้น 6 เป็นส่วนทำการของสถาบัน
ที่ทำการแห่งใหม่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีของไทยและของตลาดโลก ที่พร้อมขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอัญมณีของไทยโลดแล่นในตลาดโลก ด้วยศักยภาพความพร้อมทุกด้าน ที่ทำการแห่งใหม่ยังเป็นการยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้า ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มนักธุรกิจในวงการอัญมณี
ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศไทย คือ ห้องปฎิบัติการตรวจสอบอัญมณี ที่ได้รับการรอบรังจากสมาพันธ์อัญมณีโลก ( The World Jewelry Confederation หรือ CIBJO) ยกให้เป็น CIBJO Registered Laboratory โดยเป็นสถาบันตรวจสอบอัญมณี ที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และยังเป็นสมาชิก 1 ใน 5 ของห้องปฎิบัติการขั้นแนวหน้าของโลก
ปัจจุบันสถาบัน ได้เปิดให้บริการด้านการฝึกอบรมมากกว่า 7,000 ราย 13 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรเบื้องต้น สำหรับผู้ที่เริ่มเรียนรู้ธุรกิจอัญมณี จนถึงหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการ สำนักงานแห่งใหม่ จะสามารถรองรับการบริการการฝึกอบรม ที่เน้นเรื่องรายละเอียดของแต่ละหลักสูตรได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังรองรับบริการอบรม ตามรูปแบบสินค้าของแต่ละบริษัท โดยออกแบบหลักสูตรแบบเฉพาะ (Teller mate) และหลักสูตรใหม่ล่าสุด รองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาคเอเชีย คือ หลักสูตรประเมินราคาอัญมณีและเครื่องประดับให้กับลูกค้ารายย่อย (end consumer)
นางวิลาวัณย์ กล่าวว่า สถาบันแห่งนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นศูนย์กลางการตรวจสอบอัญมณีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย เพียงแห่งเดียว โดยยังได้เพิ่มศักยภาพด้านบริการ ด้วยการเตรียมเพิ่มเครื่องตรวจสอบที่ทันสมัยนำมาใช้ในการปฎิบัติการ โดยสถาบันยังได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา
นอกจากนี้ สถาบันยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาอัญมณีซึ่งเป็นพันธกิจหลักของสถาบัน ในการรวมรวมองค์ความรู้ใหม่ๆ แก่อุตสาหกรรมซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง โดยในส่วนของห้องปฎิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า ยังมีการนำอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้ โดยประสานความร่วมมือไปยังสมาคมและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
“แนวทางการดำเนินงานของสถาบัน จะอยู่ภายใต้ฐานคติและจิตสำนึกที่ว่า ต้องมีมาตรฐานที่ถูกต้องเป็นสากล เน้นการดำเนินงานเชิงรุกและเป็นระบบ ปัจจุบันสถาบันได้เริ่มทำระบบมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001 เพื่อมุ่งปรับปรุงคุณภาพการให้บริการขององค์กร และสร้างความเข้าใจในการปฎิบัติงานและสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” นางวิลาวัลย์ กล่าว
นับเป็นการเปิดมิติใหม่ของ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ในฐานะผู้ให้บริการการตรวจสอบอัญมณี ที่จะก้าวล้ำด้วยอุปกรณ์การตรวจสอบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นที่เชื่อถือในระดับโลก พร้อมไปกับการพัฒนาเคียงคู่ไปกับภาคธุรกิจ ซึ่งแต่ละปีธุรกิจอัญมณี นำรายได้กลับสู่ประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของไทย พร้อมด้วยบริการที่จะเพิ่มความสะดวก คล่องตัวและรวดเร็วกว่าเดิม รวมถึงบริการใหม่ที่จะเปิดตัวในเร็วๆนี้คือ การเพิ่มเครื่องมือตรวจและเอ็กซเรย์โลหะมีค่า บริการวัดความหนาที่ชุบของเครื่องประดับ วิเคราะห์ธาตุ เจือในเครื่องประดับ เป็นการให้บริการตรวจสอบในทองคำ ซึ่งแต่ละปีมียอดส่งออกถึง 50% ของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ หรือประมาณ 1.6-1.7 แสนล้านบาท ของมูลค่ารายได้การส่งออกอัญมณีรวมปีละ 3 แสนล้านบาท โดยคาดว่าศูนย์บริการแห่งใหม่นี้ จะสามารถรองรับผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น 50-70% โดยสถาบันยังได้เตรียม เปิด Bond สำหรับลูกค้าต่างประเทศที่นำอัญมณีเข้ามาให้สถาบันตรวจสอบโดยไม่ต้องเสียภาษีน้ำเข้า เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกและคล่องตัวในภาคธุรกิจอีกด้วย