กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--ปภ.
ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 12 จังหวัด พร้อมเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา บริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ให้เตรียมการป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่ง ตลอดจนเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 34 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัยเร่งรัดการสำรวจ จัดทำ ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยด้วยความรอบคอบ ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
นายภานุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 12 จังหวัด รวม 64 อำเภอ 442 ตำบล 2,455 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 142,101 ครัวเรือน 442,128 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี สิงห์บุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และนนทบุรี ผู้เสียชีวิต 72 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,681,912 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ที่คาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 67,618 ไร่ กุ้ง หอย ปู 2,284 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2,794,246 ตัว น้ำท่วมเส้นทาง ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 3 สาย ใน 2 จังหวัด ทางหลวงชนบท 31 สาย ใน 12 จังหวัด สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ที่อำเภอ สันทราย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอเมืองอุบลราชานี จังหวัดอุบลราชธานี และลำเซบก อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีปริมาณน้ำมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์อยู่ในอัตรา 3,106 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นายภานุ กล่าวว่า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากน้ำเหนือมีปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณวันละ 10 — 15 ซม. ต่อเนื่องกันหลายวัน จึงขอเตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา บริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ให้เตรียมการป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่ง เสริมกระสอบทรายเป็นแนวคันกั้นน้ำ ป้องกันพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ท้ายนี้ ศอส. ได้กำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 16 ชัยนาท จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ขอย้ำเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วมดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด มิให้ลงเล่นน้ำ เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิต ตลอดจนเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 34 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยเร่งรัดการสำรวจ จัดทำ ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท แก่ครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยได้โดยเร็วที่สุด