สสส. หนุนมหกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์ สานสุข ภาคกลาง หวังเกิดเป็นลานการแสดงทางวัฒนธรรมและถนนเด็กเดินขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday September 8, 2011 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--สสส. เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชนภาคกลาง ร่วมกันจัดงานมหกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์ สานสุข ที่ ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดย นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ (สสส.) กล่าวว่า มหกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์ สานสุข ภาคกลางที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการร่วมกันทำงานร่วมกันระหว่าง 5 จังหวัด 9 พื้นที่ อันได้แก่ จ.กาญจนบุรี, จ.จันทบุรี, จ.เพชรบุรี, จ.ลพบุรี และกรุงเทพมหานคร ที่ได้นำศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก่อเกิดเป็นเป็นเวทีกลางของการแสดงทางวัฒนธรรมยามเย็นสื่อพื้นบ้านภาคกลาง เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชนให้เป็นไปด้วยความเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยในปีนี้มีการหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานจาก จ.เพชรบุรี, จ.ราชบุรี, จ.กาญจนบุรี มาเป็นที่ จ. ลพบุรี เนื่องจากความโดดเด่นของเห็นอัตลักษณ์สื่อพื้นบ้านของกลุ่มไทยเบิ้งที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของคน 3 วัย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นปู่, ย่า, ตา, ยาย รุ่นพ่อ, แม่ ที่เป็นวันทำงาน กับรุ่นลูก, หลาน มาทำกิจกรรมร่วมกันได้เป็นอย่างดี โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมนั้น คือการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายที่น่าสนใจ “ครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการดึงเอารากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมในชุมชนมาสืบสาน สืบทอด ด้วยการดึงเอาศิลปินพื้นบ้าน, ครูภูมิปัญญา, ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ความสามารถ รู้ลึก รู้จริง มาถ่ายทอดความรู้เรื่องสื่อพื้นบ้านในแบบต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชนเข้าใจและสืบสานต่อไปจนเกิดเป็นความยั้งยืน เป็นการสานสัมพันธ์ของคนในชุมชน ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของวัฒนธรรมท้องถิ่น และเกิดความสัมพันธ์ของคนสามวัย ได้แก่ เด็ก/เยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งยังส่งผลให้เยาวชนและชุมชน เกิดความรักและความหวงแหนสื่อพื้นบ้าน และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะอนุรักษ์ และสืบทอดสื่อพื้นบ้านสู่คนรุ่นหลังต่อไป” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว ด้านนายประทีป อ่อนสลุง ตำแหน่ง หัวหน้าโครงการมหกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์ สานสุขภาคกลาง กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมมีในมหกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์ สานสุข ภาคกลาง ครั้งนี้ แบ่งออกได้เป็น 3 กิจกรรม หลักๆ คือ 1.กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน 2.กิจกรรม “ถนนเด็กเดินตามรอยวัฒนธรรมไทยเบิ้ง” และลานการแสดงทางวัฒนธรรม สื่อพื้นบ้านสร้างสรรค์ สานสุข ภาคกลาง และ3.“กิจกรรม “การแสดงทางวัฒนธรรมยามเย็นสื่อพื้นบ้านภาคกลาง เวทีกลาง” ที่เป็นการแสดงของเครือข่ายสื่อพื้นบ้าน ภาคกลางมากมายอาทิ ชุดที่ 1.เป็นการแสดงดนตรีลูกทุ่งประกอบละครเพลงพื้นบ้านวิถีชีวิตไทยเบิ้ง ต.โคกสลุง จ.ลพบุรี, รำกลองยาวประยุกต์ ร.ร.บ้านหนองจอก จากเทศบาลตำบลรางหวาย จ.กาญจนบุรี, รำซัดชาตรี กลุ่มลูกระนาด จาก ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี, การรำประกอบดนตรีอาใยศิลป์ จากต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ชุดที่ 2 เป็นการแสดงตุ๊กตาหุ่นมือประกอบการเล่านิทานพื้นบ้าน ต.โคกสลุง จ.ลพบุรี, การแสดงรำตง บ้านกองม่องทะ จากต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, การแสดงรำเหย่ย จากเทศบาลตำบลรางหวาย จ.กาญจนบุรี, การแสดงละคร “การสร้างเจดีย์ชเวดากอง” จากบ้านกองม่องทะ จ.กาญจนบุรี ชุดที่ 3 เป็นรำไทยทรงดำ จากเทศบาลตำบลรางหวาย จ.กาญจนบุรี, การรำมอญ 12 ท่า จากต.บางขันหมาก อ.เมือง จ.ลพบุรี, การแสดงกระบองไฟ บ้านกองม่องทะ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และชุดที่ 4 เป็นการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งโรงเรียนโคกสลุงวิทยา ต.โคกสลุง จ.ลพบุรี นั่นเอง “นอกจากนี้ในกิจกรรมถนนเด็กเดินยังจัดให้มีฐานแห่งการเรียนรู้ด้วยกันอีก 9 ฐานด้วยกัน โดนเริ่มต้นที่ ฐานการเรียนรู้เรื่องของประวัติหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนไทยเบิ้ง ว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร ฐานที่2 เป็นภูมิปัญญาเรื่องของการตีเหล็ก การทำมีด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากรุ่นพ่อ ซึ่งปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำอยู่ในตำบล ฐานที่3 เป็นการเรียนรู้เรื่องการทอผ้าฝ้าย ฐานที่4 เป็นเรื่องของงานหัตถกรรมพื้นบ้าน คืองานจักสาน ที่มีการใช้อยู่จริงในชีวิตประจำวัน อย่างการสานกระบุง ตะกร้า สานไซ ฯลฯ ฐานที่5 เป็นการทำของเล่นของเด็กๆ ในสมัยก่อนอย่างการทำว่าว, การทำธนู, การสานตุ๊กโต่ง(ตั๊กแตน) การแกะสลักกะลาตาเดียว ฐานที่6 เป็นการสาธิตการอยู่ไฟของคนสมัยก่อน การดูแลตัวเองโดยการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน ฐานที่7 เป็นเรื่องการสาธิตทำขนมพื้นบ้าน อย่างขนมกรวย ขนมเบื้อง ขนมกระดังงา ขนมลูกโยน ฐานที่8 เป็นการสาสิต เรียนรู้ การทำขนมพื้นบ้านเช่นกัน ส่วนฐานที่9 จะเป็นเรื่องของบ้านเก่า ที่สร้างเมื่อปี 2500 เรียกว่าเรือนปั้นหยา ที่สร้างมาด้วยภูมิปัญญา และความเชื่อนั่งเอง” หัวหน้าโครงการมหกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์ สานสุขภาคกลาง กล่าว ทั้งนี้ นายดนัย หวังบุญชัย ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า งานที่เกิดขึ้นที่ จ.ลพบุรีในครั้งนี้ถือเป็นลานกิจกรรมย่อมๆ ที่จะทำให้เห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมภูมิปัญญาของแต่ละพื้นที่ ที่จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของคนให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่นของตัวเอง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมด้วยการจัดทำเป็นหลักสูตรเข้าไปในการเรียนการสอนแล้ว โดยมีชื่อเรียกว่า “ห้องเรียนภูมิปัญญา” ซึ่งหลักสูตรนี้เกิดมาได้ด้วยความเข้มแข็งของทุกภาคส่วนในชุมชน เชื่อว่าอนาคตจะมีความยั่งยืนได้อย่างไม่น่าแปลกใจ และนี่คือความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ในงานมหกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์ สานสุข ภาคกลาง สำหรับผู้ที่สนใจในกิจกรรมถนนเด็กเดินที่กำลังจะทยอยจัดขึ้นในปีนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและดูรายชื่อของทุกพื้นที่ได้ที่ www.artculture4health.com หรือที่ www.facebook.com/Sponsorship.TH และคุณจะรู้ว่าประเทศไทยมีศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ