ปภ. ส่ง จนท. 10 ชุด ลงพื้นที่ 34 จว. เร่งจัดทำข้อมูลครัวเรือนจ่ายเงิน 5,000 บาท

ข่าวทั่วไป Friday September 9, 2011 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแจงผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลืออุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี ต้องเข้าข่าย 3 หลักเกณฑ์ และอาศัยอยู่เป็นประจำในพื้นที่ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งมีหนังสือรับรองจากท้องถิ่นออกให้เท่านั้น เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ปภ. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ 10 ชุด ลงพื้นที่ 34 จังหวัด ซึ่งจะทำให้การจัดทำข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปด้วยความถูกต้องและครบถ้วนแล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้โดยเร็วที่สุด นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลืออุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ว่า ผู้ประสบอุทกภัยต้องอาศัยอยู่เป็นประจำในพื้นที่ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและมีหนังสือรับรองจากท้องถิ่นออกให้เท่านั้น รวมถึงเข้าข่ายหลักเกณฑ์ ที่กำหนด ดังนี้ (1) น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย (2) บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย (3) บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากหรือดินโคลนถล่ม สำหรับกรณีเข้าข่ายเป็นผู้ประสบภัยซ้ำซ้อนทั้ง 3 หลักเกณฑ์ หรือได้รับผลกระทบจากพายุไหหม่า นกเตน ร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำจะได้รับการช่วยเหลือเพียงกรณีเดียวหรือเหตุการณ์เดียว ในกรณีที่เป็นบ้านเช่า ผู้เช่าจะได้รับเงินช่วยเหลือ หากบ้านเช่ามีหลายชั้นจะได้รับการช่วยเหลือเฉพาะชั้นที่น้ำท่วมถึงเท่านั้น นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือแล้วเสร็จโดยเร็วตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานรวบรวมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลครัวเรือนที่ประสบ อุทกภัยได้ประสานการดำเนินงานกับจังหวัด โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ประจำจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 10 ชุด ลงพื้นที่ 34 จังหวัด ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2554 เป็นต้นไป โดยให้ประจำอยู่ในพื้นที่ จนกว่าการจ่ายเงินครัวเรือนละ 5,000 บาท ในพื้นที่รับผิดชอบจะแล้วเสร็จ เพื่อสนับสนุน การดำเนินงานและให้การประสานการจัดทำข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปด้วยความถูกต้องและครบถ้วน ตลอดจนเร่งรัดจังหวัดจัดส่งข้อมูลภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนก่อนนำส่งให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งจะทำให้การจัดทำข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปด้วยความถูกต้องครบถ้วน และแล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ได้โดยเร็วที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ