กทม.เร่งพิจารณามาตรการควบคุมเตาเผาศพและสัตว์อันตราย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 10, 2002 08:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (9 ก.ย. 45) เวลา 13.30 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นพ.อุดมศักดิ์ สังฆ์คุ้ม รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว "พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว" ครั้งที่ 58 โดยมี นพ.ถาวร ตันติกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และนพ.ธานี บุณยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ร่วมแถลงข่าว
แจงกรณีเด็กหญิงเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อเอชไอวีจากการฉีดวัคซีน
ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ชี้แจงกรณี ด.ญ.มนสิชา รุ่งกัน อายุ 6 ปี บุตรของ นางสุธีรา รุ่งกัน เสียชีวิตจากการติดเชื้อ HIV โดยมารดายืนยันว่า ด.ญ.มนสิชา ติดเชื้อ HIV จากการฉีดวัคซีนเมื่อแรกเกิดที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ทั้งนี้ภายหลังการตรวจสอบข้อมูลประวัติของผู้ป่วยปรากฏว่า ไม่พบประวัติของนางสุธีรา รุ่งกัน พบแต่ประวัติของนางถาวร รุ่งกัน อายุ 36 ปี มาคลอดที่วิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 39 ซึ่งเด็กปกติดี และก่อนกลับบ้านได้รับวัคซีน ดังนี้ 1.ฉีดตับอักเสบบีที่ต้นขา โดยใช้เข็มฉีดครั้งเดียวทิ้ง 2.ฉีดวัคซีนบีซีจี ที่ไหล่ขวา โดยใช้เข็มฉีดครั้งเดียวทิ้งเช่นกัน และ 3.หยอดไวตามินเค ทางปากจำนวน 2 หยด นอกจากนี้ทางวิทยาลัยฯ ได้พบประวัติของ ด.ญ.วรนาถ รุ่งกัน อายุ 6 เดือน ซึ่งมารับการตรวจที่ห้องตรวจกุมารเวชกรรม 1 ครั้ง ด้วยอาการไข้หวัด แต่ไม่พบหลักฐานบันทึกการตรวจสุขภาพ เนื่องจาก ผู้ป่วยขาดการติดต่อกับโรงพยาบาลนานเกิน 5 ปี ทั้งนี้ทางวิทยาลัยฯ ขอยืนยันว่า ในการฉีดวัคซีน และการใช้เข็มฉีดยาทุกชนิด ทางวิทยาลัยฯ ไม่มีการใช้เข็มฉีดยาซ้ำ เข็มที่ใช้แล้วจะใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตามมาตรฐานโรงพยาบาลทั่วไป และกรณีนี้ทางวิทยาลัยฯ จะเชิญสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่กระบวนการฆ่าเชื้อและทำลายอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้แล้วของทางวิทยาลัยฯ ในวันที่ 11 ก.ย.45 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมเสนอ ตันเศรษฐี ชั้น 2 ตึกหน้าวชิรพยาบาล ถ.สามเสน เขตดุสิต
ปี 47 ทุกวัดในกทม.ติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เร่งดำเนินมาตรการเรื่องเตาเผาศพปลอดมลพิษ โดยให้ทุกวัดภายในเขตกรุงเทพมหานครดำเนินการปรับปรุงเตาเผาศพให้ได้มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารไดอ๊อกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น แต่อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด ดังนั้น กทม.จึงมีนโยบายให้วัดในกทม.ติดตั้งเตาเผาศพแบบปลอดมลพิษ ซึ่งปราศจากกลิ่นและควัน โดยขอความร่วมมือไปยังวัดที่มีฌาปนสถาน ให้ติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษให้ครบทุกวัด เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยในปี 2544 กทม.ได้จัดประชุมเจ้าอาวาสวัดและผู้ดูแลเตาเผาศพ เพื่อรับทราบนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเรื่องเตาเผาศพปลอดมลพิษ เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชนเรื่องของกลิ่นและเขม่าควัน ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีวัดรวมทั้งสิ้น 309 วัด เป็นวัดที่มีเตาเผาศพที่ได้มาตรฐานจำนวน 197 วัด และเป็นวัดที่ต้องดำเนินการปรับปรุงเตาเผาศพจำนวน 112 วัด ทั้งนี้ได้กำหนดให้แบ่งเขตพื้นที่เพื่อดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จเป็น 3 เขต คือ เขตชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น รวมจำนวน 40 วัด กำหนดให้ติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษให้แล้วเสร็จในปี 2545 สำหรับ เขตต่อเมืองของกรุงเทพมหานครมีวัด จำนวน 35 วัด กำหนดให้ติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษให้แล้วเสร็จในปี 2546 และเขตชานเมือง จำนวน 37 วัด กำหนดให้ติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษให้แล้วเสร็จในปี 2547 ทั้งนี้หากวัดใด ติดขัดเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง ก็จะให้ดำเนินการฌาปนกิจที่วัดใกล้เคียงซึ่งมีเตาเผาศพที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้ให้บริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินการศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ในการติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษบริเวณสี่มุมเมือง เพื่อใช้เป็นฌาปนสถานรวมในการฌาปนกิจศพ
เตือนระวังแมลงสาบยักษ์พาหะสารพัดโรค และปลาหมึกเพชฌฆาตสายพันธุ์บลูริง
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวต่อว่า กรณีที่พบว่ามีผู้นำแมลงสาบยักษ์พันธุ์มาดากัสการ์ และปลาหมึกสายพันธุ์บลูริง มาเลี้ยงในประเทศไทยนั้น เกรงว่าหากสัตว์ทั้งสองชนิดถูกปล่อยออกสู่ธรรมชาติอาจเกิดอันตรายกับประชาชนทั่วไป โดยแมลงสาบยักษ์พันธุ์มาดากัสการ์นั้นมีขนาดใหญ่กว่าแมลงสาบทั้งสามสายพันธุ์ที่พบอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์อเมริกัน พันธุ์เยอรมัน และพันธุ์ออสเตรเลีย อีกทั้งสามารถขยายพันธุ์ได้ทีละหลายตัวและรวดเร็ว โดยจะออกไข่ได้ครั้งละ 20-40 ฟอง หากแมลงสาบพันธุ์มาดากัสการ์หลุดรอดออกไปผสมพันธุ์กันเองหรือผสมพันธุ์กับแมลงสาบพื้นเมืองในประเทศไทย อาจกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ แมลงสาบพันธุ์มาดากัสการ์ มีขนาดใหญ่ จึงกินสิ่งปฏิกูลและเศษขยะจำนวนมาก รวมทั้งถ่ายอุจจาระตลอดวัน จึงเป็นพาหะนำโรคหลายชนิด เช่น โรคบิด โรคไข้รากสาด (ไทฟอยด์) โรคอาหารเป็นพิษ กาฬโรค (สามารถนำเชื้อโรคนี้ได้แต่ปัจจุบันไม่มีเชื้อโรคนี้ในประเทศไทย) โรคไวรัสตับอักเสบ โรคผิวหนังจากเชื้อรา โรคปอดอักเสบ นอกจากนี้ในตัวแมลงสาบยังเป็นแหล่งอาศัยของโปรโตซัว 5 ชนิด และหนอนพยาธิ 12 ชนิด เช่น พยาธิเส้นด้าย , พยาธิไส้เดือน โดยชนิดที่อันตรายที่สุดคือ พยาธิดูดเลือด ซึ่งตัวพยาธินี้จะเกาะตามกระเพาะอาหาร ผนังลำไส้ของผู้ป่วยทำให้มีอาการซีด เช่นเดียวกับโรคโลหิตจาง
ส่วนปลาหมึกสายพันธุ์บลูริง ซึ่งมีผู้นำมาใส่ตู้โชว์ขายเป็นสัตว์ประเภทสวยงามนั้น ลักษณะทั่วไปจะมีหนวดหรือระยาง แปดเส้น มีลวดลายเป็นวงสีน้ำเงินแพร่กระจายอยู่บนลำตัวและหนวด หากมนุษย์ถูกปลาหมึกบลูริงกัด จะทำให้ระบบประสาทไม่สั่งการ หายใจไม่ออกและเสียชีวิตภายใน 2-3 นาที จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
เตรียมร่างแก้ไขข้อบัญญัติฯ ควบคุมการเลี้ยงสัตว์อันตราย
สำหรับมาตรการในการควบคุมสัตว์ประเภทอันตรายนั้น กทม.กำลังแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงสัตว์ และปล่อยสัตว์ (พ.ศ.2545) ซึ่งเดิมควบคุมการเลี้ยงสัตว์หกชนิด ขณะนี้ กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้ร่างแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าวแล้ว โดยระบุเพิ่มเติมให้มีการควบคุมสัตว์ที่กทม.เห็นว่าควรมีการควบคุม ซึ่งเป็นการระบุกว้าง ๆ ทำให้กทม.สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวเข้าควบคุมการเลี้ยงสัตว์อันตราย หรือสัตว์พาหะนำโรค ซึ่งอาจมีการนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยในอนาคตได้ต่อไป ขณะนี้ร่างแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าว กำลังจะนำเข้าคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมี นพ.อุดมศักดิ์ สังฆ์คุ้ม รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เมื่อคณะกรรมการได้แก้ไขและเห็นชอบแล้ว ก็จะนำเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามไปยังสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนบังคับใช้ต่อไป
วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการนำเข้าตั้งแต่ต้นทาง
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่มีผู้นิยมนำสัตว์เลี้ยงแปลก ๆ จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยนั้น ทางกทม.ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ควบคุมการนำเข้าสัตว์อันตรายตั้งแต่ต้นทาง แทนที่จะให้กทม.เป็นผู้แก้ไขที่ปลายเหตุ โดยสามารถดำเนินการได้โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีการควบคุม ป้องกันก่อนที่จะผ่านเข้ามาในประเทศ
ส่วนการควบคุมการเลี้ยงสัตว์อันตรายทั้งสองชนิดดังกล่าวนั้น มีกฎหมายที่จะดำเนินการกับผู้เลี้ยงและผู้ขายได้ แต่ขณะนี้จะยังไม่มีการใช้มาตรการทางกฎหมายแต่อย่างใด เนื่องจากเกรงจะเกิดการแตกตื่นและปล่อยสัตว์ทั้งสองชนิด สู่ธรรมชาติ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ดังนั้นหากผู้ใดมีสัตว์ดังกล่าวไว้ในครอบครอง ขอให้แจ้งกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางสำนักฯ จะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับสัตว์ดังกล่าวถึงที่บ้านของผู้เลี้ยง และจะจัดส่งให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป โดยผู้ครอบครองหรือพบเห็นสัตว์อันตรายสามารถแจ้งได้ทันทีทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2441-3003--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ