แนะกทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ สร้างความโปร่งใส-ชอบธรรม-ลดปัญหา”ฮั้ว”

ข่าวทั่วไป Monday September 30, 2002 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
รามคำแหง : งานวิจัยปฏิรูประบบโทรคมนาคมหัวข้อ “การจัดสรรคลื่นความถี่” โดยสกว. ชี้กลไกและทางปฏิบัติเชิงนโยบายแก่กทช. ด้วยการเปิดการประมูลคลื่นความถี่ สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรม ลดปัญหาการฮั้วของเอกชน ระบุหากผู้ประกอบการายได้ไม่สามารถบริหารจัดการคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถยึดคลื่นความถี่คืนได้
(สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ http://pr.trf.or.th)
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการปฏิรูประบบโทรคมนาคมของประเทศไทย” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่าที่ผ่านมาการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศไทยยังมีปัญหาอยู่มาก อย่างเช่น บริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายที่ได้รับคลื่นความถี่มากเกินไป ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า มีความโปร่งใส และมีการจัดสรรอย่างคุ้มค่าจริงหรือไม่ และเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ขึ้นมา ควรแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้แนวทางที่เสนอ อาทิ วิธีการประมูลคลื่นความถี่มาใช้ในการจัดสรรคลื่นความถี่แก่ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ยุติธรรม แก้ปัญหาการฮั้วของเอกชน เปิดช่องให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประมูล เนื่องจากข้อพิจารณาในเรื่องดุลพินิจที่จะไม่ก่อให้เกิดความลำเอียงในธุรกิจ ขณะเดียวกันการประมูลคลื่นความถี่มีความรวดเร็ว โดยการใช้วิจารณญาณ โปร่งใส และภาครัฐได้ผลตอบแทนมากขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่เข้าใจผิดในด้านการจัดสรรคลื่นความถี่ ทำให้อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากประชาชนสูงกว่าที่ควรจะเป็น แต่ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ในการที่จะกำหนดอัตราการจัดเก็บค่าบริการนั้น การประมูลคลื่นความถี่จะไม่มีผลที่ทำให้อัตราค่าบริการสูงขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นวิธีที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมาย และเจตนารมย์ของกฎหมายรัฐธรรมที่ต้องการให้พิจารณาถึงความคุ้มค่า การขาดแคลนคลื่นความถี่จัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“การประมูลจะเกิดประโยชน์กับประชาชนหลายประการทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น 1.รัฐจะมีรายได้จากการประมูลจำนวนมากกว่าการจัดสรรโดยวิธีอี่น เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นสมบัติที่มีจำกัด ผู้ที่ได้รับคลื่นความถี่สามารถทำกำไรมากกว่าปรกิตสามารถกลับคืนสู่รัฐ เพื่อให้รัฐเปิดให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง 2.ความรั่วไหลการไร้ประสิทธิภาพที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ทั้งนี้ต้องมีการออกแบบการประมูลอย่างถูกต้อง มีการศึกษาจากบทเรียนประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือยุโรป เป็นต้น” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ที่ผ่านมา การจัดสรรคลื่นความถี่ตามพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม มีการแก้ไขในปี 2535 นับว่าเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระค่อนข้างล้าสมัย ในหลักการบางหลักการค่อนข้างใช้ได้คือ ผู้ประกอบการที่จะขอจัดสรรใช้คลื่นความถี่จะต้องพิสูจน์ให้คณะกรรมการประสานงานคลื่นความถี่เห็นถึงความสามารถ นับเป็นหลักการที่มีทำให้มีประสิทธิภาพ แต่ในทางปฏิบัติมีช่องโหว่ของกฎหมายคือ การที่หน่วยงานภาครัฐทำสัญญาร่วมการงานให้บริการโทรคมนาคมกับบริษัทเอกชนมักจะมีข้อตกลงในสัญญาร่วมงานดังกล่าว ในลักษณะที่ให้หน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่ประสานงานขอคลื่นความถี่จากกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่เอกชน เพราะฉะนั้นหากกลไกในการทำสัญญาร่วมการงานกับภาคเอกชนมีความไม่โปร่งใส การจัดสรรคลื่นความถี่ก็จะมีความไม่โปร่งใสหรือความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นด้วย
สำหรับกรณีที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ไปแล้ว คงจะต้องมีการยึดคลื่นความถี่คืนในผู้ประกอบการที่ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกทช.เป็นผู้พิสูจน์กลไกในการเฝ้าฟัง และกลไกที่บริษัทเอกชนรายงานมายังกทช.ได้ ซึ่งหากรายงานเป็นเท็จจะมีบทลงโทษได้ สิ่งนี้กทช.ก็จะมีอำนาจมาตรา 54 ตามพ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ หรือกฎหมายลูกที่ออกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 แม้ว่ากทช.จะยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม แต่มีกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ต่อไปจะรับผิดชอบดูแลทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของกทช. ได้พยายามศึกษาเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจุดแข็งของกรมไปรษณีย์โทรเลข เช่น การตรวจสอบการเฝ้าฟัง และการพิจารณามาตรฐานทางเทคนิค อย่างไรก็ดีสิ่งที่กรมไปรษณีย์โทรเลขต้องดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถก็คือ วิเคราะห์ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจของคลื่นความถี่ โดยในหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่า มีมูลค่ามหาศาลในระดับแสนล้านถึงล้านล้านบาท ดังนั้นควรให้ความสนใจเรื่องมิติคลื่นความถี่ การออกแบบการประมูล และการเตรียมการต่างๆ เหล่านี้
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว.--จบ--
-ศน-

แท็ก คมนาคม   กทช.   สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ