กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--ปภ.
มท.3 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย ใน 3 อำเภอ รวม 2,650 ชุด สั่งกำชับจังหวัดให้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน โดยแจกจ่ายสิ่งของอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นให้เพียงพอ จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมเยียนดูแลผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแล อย่างทั่วถึง รวมถึงเร่งรัดสำรวจความเสียหายและตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้สามารถจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาทแก่ครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยแล้วเสร็จตามกำหนด
นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล รวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ ที่มีลำน้ำสายสำคัญทั้งโขง ชี มูลไหลมาบรรจบกัน ประกอบกับในช่วงวันที่ 9-12 กันยายน 2554 จะมีฝนตกหนัก ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ชุมชนที่เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น ตนในฐานะ ที่กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย จึงได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีพร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จำนวน 1,000 ชุด อำเภอเมืองอุบลราชธานี 1,000 ชุด และอำเภอดอนมดแดง จำนวน 650 ชุด รวมถึงได้ไปตรวจจุดสูบน้ำช่วยระบายน้ำ บ้านปากกุดหวาย ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ
นายฐานิสร์ สั่งกำชับจังหวัดให้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยแจกจ่ายสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้เพียงพอ จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมเยียนดูแลผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพอนามัยผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง รวมถึงให้เร่งรัดสำรวจความเสียหาย ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือน ที่ประสบอุทกภัยให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้รายงานจำนวน 1,046 ครัวเรือน เพื่อให้สามารถจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาท แก่ครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยแล้วเสร็จภายใน 14 วัน นับจากวันที่ 14 กันยายน 2554
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานีว่า มีพื้นที่ประสบภัย 16 อำเภอ 101 ตำบล 772 หมู่บ้าน 41,311 ครัวเรือน 181,614 คน ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ รวม 5 ตำบล 10 ชุมชน 37 หมู่บ้าน 636 ครัวเรือน 2,387 คน ซึ่งต้องเฝ้าระวังพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งกำชับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานีให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะ หากสถานการณ์วิกฤตให้เตรียมอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยทันที