กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--ปภ.
ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 16 จังหวัด พร้อมแจ้งเตือน 32 จังหวัด ระมัดระวังอันตรายจากภาวะ ฝนตกหนักในระยะ 1 — 2 วันนี้ ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมายังต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด ขณะที่ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ระนอง ชุมพร พังงา กระบี่ และตรัง เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้จังหวัดเสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมการเฝ้าระวังภัยอย่างเข้มข้นในทุกระยะ
นายภานุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 16 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 516 ตำบล 2,820 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 202,760 ครัวเรือน 465,792 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี สิงห์บุรี นครปฐม สุพรรณบุรี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี จันทบุรี และสระบุรี ผู้เสียชีวิต 80 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,681,912 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ แบ่งเป็น บ่อปลา 67,618 ไร่ กุ้ง หอย ปู 2,284 ไร่ ปศุสัตว์ 2,794,246 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 7 สาย ใน 5 จังหวัด ทางหลวงชนบท 29 สาย ใน 10 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำป่าสัก ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่น้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด มีปริมาณน้ำมาก ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ลุ่มน้ำชีที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอเดชอุดม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ลุ่มน้ำโขง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นายภานุ กล่าวต่อไปว่า ในระยะ 1 — 2 วันนี้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านของทั้ง 32 จังหวัดระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่ม ส่วนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำบริเวณภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออก ให้เตรียมการป้องกันปริมาณน้ำท่วมที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ให้เฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด ติดตามสถานการณ์น้ำเป็นระยะ ทำการเสริมกระสอบทรายเป็นแนวป้องกัน พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง
นอกจากนี้ ศอส. ขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ อำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง อำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อำเภอเขาพนนม อำเภอหน้าเขา อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และอำเภอห้วยยอด อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1 — 2 วันนี้ หากสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ในทันที
ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้จังหวัดเสี่ยงภัยที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังข้างต้นประสานนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ระดับน้ำอย่างเข้มข้นทุกระยะ พร้อมเตรียมการแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ตลอดจนเตรียมกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที อย่างไรก็ตาม หากต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ขอเน้นย้ำให้ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและผู้พิการทุพพลภาพเป็นกรณีพิเศษ ตลอดจนประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและรักษาความปลอดภัยทั้งในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่อพยพชั่วคราว