ฟิทช์ให้อันดับเครดิตระดับ AA+(tha) แนวโน้มเป็นลบ กับตั๋วแลกเงินมีประกันของ บริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด ที่ค้ำประกันโดย ฟอร์ด เครดิต

ข่าวทั่วไป Friday October 11, 2002 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (national ratings) ระยะยาวที่ระดับ 'AA+(tha)' แนวโน้มเป็นลบ แก่ตั๋วแลกเงินมีประกันของบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด มูลค่า 900 ล้านบาทครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2547 500 ล้านบาทครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2548 และ 600 ล้านบาทครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2549
อันดับเครดิตที่ฟิทช์ให้นั้นมีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขจากบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต (ฟอร์ด เครดิต) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (international ratings) ที่ 'BBB+' (แนวโน้มเป็นลบ) สำหรับสกุลเงินต่างประเทศ เทียบกับอันดับเครดิตระดับสากลสกุลเงินบาทที่ระดับ 'BBB+' สำหรับสกุลเงินบาท (แนวโน้มเป็นบวก) ที่ประเทศไทยได้รับ จากการค้ำประกันจาก ฟอร์ด เครดิต ฟิทช์ เชื่อว่า ฟอร์ด เครดิตจะให้การค้ำประกันการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยกับผู้ลงทุนในตราสารหนี้และตั๋วแลกเงินนี้อย่างตรงเวลา และเต็มมูลค่า
ผลประกอบการและคุณภาพสินทรัพย์ของไพรมัสนั้นปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาหลังจากที่บริษัทฟื้นตัวจากสภาพการณ์เศรษฐกิจถดถอยในช่วงปี 2540 และจากการที่บริษัทได้พัฆนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย กำไรสุทธิในรอบปี 2544 นั้นดีขึ้นอย่างมากเนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อและการกันสำรองเพื่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ลดลง สัดส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยและสัดส่วนผลตอบแทนต่อทุนเฉลี่ยนั้นสูงขึ้นเป็น 0.8% และ 15.1% เนื่องจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์และรถปิคอัพ อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทนั้นยังคงขึ้นอยู่กับยอดขายของรถในกลุ่มบริษัทฟอร์ด ซึ่งรวมไปถึง มาสด้า และ วอลโว่ การพัฒนาและการเสนอรถรุ่นใหม่สู่ตลาดน่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงสองปีข้างหน้านี้ แม้ว่าผู้ผลิตรถญี่ปุ่นจะยังดำรงความสำคัญในตลาดรถยนต์ของไทย
สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของไพรมัส (สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน) ตั้งอยู่ที่ 0.44% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมดในปี 2544 บริษัทได้แสดงจำนวนผลขาดทุนจากการตัดหนี้สูญเป็นจำนวน 22 ล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมดโดยเฉลี่ย น้อยลงจาก 0.6% ในปี 2543 จำนวนเงินสำรองเมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากการตัดหนี้สูญนั้นตั้งอยู่ที่ 7.7 เท่า ในปี 2544 ปรับปรุงสูงขึ้นจากปี 2543 คุณภาพสินทรัพย์ของไพรมัสนั้นดีขึ้นทั้งๆที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแออยู่ สะท้อนถึงความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้
การที่ไพรมัสใช้เงินทุนจากการกู้ยืมเพื่อขยายกิจการ ส่งผลให้ไพรมัสมีสัดส่วนของหนี้สินที่ค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 14 เท่า ของทุนบวกกับเงินสำรองเพื่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบต่อการจัดอันดับเครดิตในเรื่องของสัดส่วนการกู้ยืมที่สูง เงินทุนที่ต่ำและสัดส่วนของสภาพคล่องนั้นถูกลดทอนด้วยการค้ำประกันของฟอร์ด เครดิต อันดับเครดิตที่ฟิทช์ให้กับตั๋วแลกเงินมีประกันนี้ก็มีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขของ ฟอร์ด เครดิต และสถานะทางการเงินของบริษัทแม่ทั้ง ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลบ แนวโน้มเป็นลบนั้นแสดงถึงความเป็นไปได้ที่อันดับเครดิตระดับสากลของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต จะถูกลดลง และก็จะส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของไพรมัสถูกลดลงตามไปด้วย
ติดต่อ
ดุษฎี ศรีชีวะชาติ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ