กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี
*** ผู้จัดการกองทุนกว่าครึ่งมองตลาดหุ้นกลุ่มประเทศจีนสดใส***
***ผู้จัดการกองทุน 4 ใน 5 ราย มองตลาดพันธบัตรเอเชียยังน่าลงทุน***
***ผู้จัดการกองทุนครึ่งหนึ่งเมินตลาดหุ้นยุโรป***
ธนาคารเอชเอสบีซี เผยผลสำรวจแนวโน้มการลงทุนของผู้จัดการกองทุนชั้นนำทั่วโลก เล็งโยกเงินลงทุนเข้าตลาดหุ้นใน 3 เดือนข้างหน้า จากไตรมาสก่อนที่ลงทุนอย่างระมัดระวังในตลาดพันธบัตร แม้จะมีการเทขายหุ้นอย่างถล่มทลายหลังสหรัฐโดนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ผู้จัดการกองทุน ร้อยละ 63 กลับมองว่าตลาดหุ้นยังน่าลงทุนในไตรมาส 3/54
ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ ราวร้อยละ 83 ยังสนใจลงทุนในตลาดพันธบัตรเอเชีย และร้อยละ 71 สนใจพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง และร้อยละ 57 ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ความกังวลว่าปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรปจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้จัดการกองทุนราวร้อยละ 83 มองตลาดพันธบัตรยุโรปไม่น่าลงทุน และร้อยละ 50 ก็เห็นว่าตลาดหุ้นยุโรปไม่น่าสนใจเช่นกัน
กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุน ในไตรมาส 3/54 ลดน้ำหนักการลงทุน คงน้ำหนักการลงทุน เพิ่มน้ำหนักการลงทุน
(Underweight) (Neutral) (Overweight)
หุ้น 25% (11%) 13% (44%) 63% (44%)
พันธบัตร 57% (38%) 43% (50%) 0% (13%)
เงินสด 43% (38%) 57% (50%) 0% (13%)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บบ่งชี้ถึงกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนในไตรมาส 2/54 ของผู้จัดการกองทุน
มร. บรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “การผันผวนของตลาดในขณะนี้ เป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนระยะยาว แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงไม่แน่นอน แต่คาดการณ์รายได้ของบริษัทจดทะเบียนที่ยังเติบโตดีอยู่ ผู้จัดการกองทุนจึงกำลังมองหาโอกาสลงทุนในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศจีน เนื่องจากตลาดคาดว่าการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องของทางการจีนจะสิ้นสุดลง”
ผู้จัดการกองทุนมองตลาดพันธบัตรเอเชีย และพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงมีอนาคตสดใส เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นในตลาดเกิดใหม่และประเทศแถบเอเชีย รวมถึงรายได้ของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยร้อยละ 83 ของผู้จัดการกองทุน ได้ให้น้ำหนักลงทุนในตลาดพันธบัตรเอเชียเพิ่มขึ้น จากไตรมาส 2/54 ที่มีเพียงร้อยละ 14 และร้อยละ 71 สนใจลงทุนในพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ในไตรมาส 2/54 และมีผู้จัดการกองทุนร้อยละ 57 ที่ให้น้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากร้อยละ 25 ในไตรมาสก่อน เพราะคาดหวังว่านโยบายเข้มงวดทางการเงินและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะคลี่คลายลง
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนอย่างหนักในช่วงของการสำรวจ ครึ่งหนึ่งของผู้จัดการกองทุน หรือร้อยละ 50 จากที่มีเพียงร้อยละ 11 ในไตรมาส 2/54 ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป และร้อยละ 83 มองว่าตลาดพันธบัตรยุโรปอยู่ในภาวะซบเซา เทียบกับร้อยละ 57 ในไตรมาส 2/54 และร้อยละ 71 ในไตรมาส 3/54 เห็นว่าตลาดพันธบัตรของสหรัฐไม่น่าลงทุน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ในไตรมาสก่อน
มร. ลี กล่าวว่า “เนื่องจากสภาพตลาดที่ผันผวนต่อเนื่อง นักลงทุนควรจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากที่ปรึกษาทางการเงิน และหมั่นทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระจายการลงทุนอย่างสมดุลตามเป้าหมายการลงทุนและการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน”
ธนาคารเอชเอสบีซีได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ความคิดเห็นของบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลกรวม 12 แห่ง 1 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2554 โดยวิเคราะห์จากปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ (Funds under management: FUM) ความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ (asset allocation views) และ กระแสเงินลงทุนทั่วโลก (global money flows) นอกจากนี้ ประมาณการกระแสเงินลงทุนสุทธิ (net money flow estimate)2 คำนวณจากความเคลื่อนไหวของปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ เปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดตราสารประเภทเดียวกัน ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/54 ปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนทั้ง 12 แห่งที่รวมในการสำรวจครั้งล่าสุดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวร้อยละ 17 ของประมาณการปริมาณเงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก (estimated total global FUM) 3
กระแสเงินลงทุนทั่วโลกในไตรมาส 2/54
ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนจึงมองหาผลตอบแทนจากตลาดพันธบัตรแทน ทำให้พบว่ามีปริมาณเงินไหลเข้าสู่กองทุนพันธบัตรอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/54 โดยเฉพาะในพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง และตลาดพันธบัตรทั่วโลก ขณะที่กองทุนหุ้นนั้น พบปริมาณเงินไหลออก เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการฟื้นตัวที่ไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก และปัญหาหนี้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ผลการสำรวจพบว่า เมื่อสิ้นไตรมาส 2/54 ปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.17 จากไตรมาส 1/54 เป็นผลจากกองทุนพันธบัตรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 62 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กองทุนหุ้นและกองทุนที่ลงทุนในตลาดเงินมีปริมาณเงินลดลง 14.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 12.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยในไตรมาส 2/54 ภูมิภาคอเมริกาเหนือยังคงครองอันดับหนึ่งของภูมิภาคที่มีเงินไหลเข้าลงทุนทั้งในหุ้นและพันธบัตร ส่วนภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก รั้งที่สองสำหรับปริมาณเงินที่ไหลเข้าลงทุนในกองทุนหุ้น
กระแสเงินลงทุนสุทธิในไตรมาส 2/54 เทียบเป็นร้อยละของปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนที่ร่วมทำการสำรวจ
ประเภทตลาดและตราสาร สิ้นไตรมาส 2/54 สิ้นไตรมาส 1/54
ตลาดหุ้นอเมริกาเหนือ +1.7% +0.4%
ตลาดหุ้นยุโรป รวมตลาดหุ้นสหราชอาณาจักร +1.2% -3.0%
ตลาดหุ้นเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น) +0.2% -4.8%
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น -0.2% +1.0%
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ -1.4% -3.9%
ตลาดหุ้นทั่วโลก -6.8% -4.7%
ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศจีน (Greater China) -7.6% -2.7%
ตลาดพันธบัตรทั่วโลก +7.7% +5.2%
ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่/ให้ผลตอบแทนสูง +6.1% +4.4%
ตลาดพันธบัตรยุโรป รวมตลาดพันธบัตรสหราชอาณาจักร -2.2% +1.4%
ตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา -2.4% +0.1%
HSBC Fund Flow Tracker ไตรมาส 2/54
ธนาคารเอชเอสบีซีได้จัดทำ HSBC Fund Flow Tracker ซึ่งเป็นดัชนีวัดกระแสเงินลงทุนสะสมทั้งหมดตั้งแต่ไตรมาส 3/49 พบว่ามีปริมาณเงินไหลออกจากกองทุนหุ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยสิ้นไตรมาส 2/54 กองทุนที่ลงทุนในหุ้นมีกระแสเงินไหลออกสะสมสุทธิ 176 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับยอดเงินไหลออกสุทธิ 153.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสที่แล้ว
? ปริมาณเงินไหลเข้าสะสมในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศจีน ลดลงร้อยละ 19.3 มาอยู่ที่ระดับ 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2/54 (เทียบกับ 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 1/54)
? ปริมาณเงินไหลเข้าสะสมในตลาดหุ้นเกิดใหม่ลดลงร้อยละ 3 มาอยู่ที่ระดับ 28.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2/54 (เทียบกับ 29.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 1/54)
? ปริมาณเงินไหลเข้าสะสมในตลาดหุ้นเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ระดับ 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
? ปริมาณเงินไหลออกสะสมจากตลาดหุ้นอเมริกาเหนือ มูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐจากไตรมาสก่อน
ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง พบว่า กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรยังคงมีปริมาณเงินไหลเข้าสะสม มูลค่า 350.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2/54 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากนักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดพันธบัตร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606