สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเสนอมาตรการการสื่อสาร 2 ทาง ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานรัฐ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 16, 2002 09:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ธอมสัน พีอาร์
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเสนอมาตรการการสื่อสาร 2 ทาง ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานรัฐดึงประชาชนเป็นแนวร่วมสำคัญในการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเเถื่อน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เร่งเครื่องผนึกกำลัง 5 หน่วยงานหลักปราบปรามน้ำมันเถื่อน จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสกระตุ้นคนไทยทั่วประเทศให้รังเกียจน้ำมันเถื่อน ด้วยการเปิดตัวโครงการประชาสัมพันธ์ " การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน " โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้เกียรติเป็นประธานในพิธี เผยสถานการณ์น้ำมันเถื่อนลดน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลเร่งปราบปรามอย่างหนัก เสนอมาตรการเชิงรุกการสื่อสารแบบ 2 ทาง ดึงประชาชนเป็นแนวร่วมต่อต้านพร้อมให้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและเปิดช่องทางแจ้งเบาะแสแบบง่ายๆ ด้วยระบบ Call Center ตู้ ป.ณ. 345 และเว็บไซด์ www.nepo.go.th/petrol
นายเมตตา บันเทิงสุข รองผู้อำนวยการฯ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นเวลานาน โดยผู้กระทำผิดได้มีการพัฒนารูปแบบของการกระทำผิด เช่น การลักลอบนำเข้าทั้งทางบกและทางทะเลการขอคืนภาษีน้ำมันส่งออกโดยไม่ส่งออกจริง การขอคืนภาษีน้ำมันเติมเรือสินค้าไปต่างประเทศ โดยไม่เติมจริง การนำสารโซลเว้นท์มาผสมในน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียอย่างมหาศาลในด้านต่างๆเป็นอันมาก ทั้งในส่วนของภาครัฐ บริษัทผู้ค้าน้ำมัน และประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิต และ อากรขาเข้าปีละหลายพันล้านบาท การสูญเสียตลาดของบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่สุจริต รวมทั้งเครื่องยนต์เสียหายจากน้ำมันที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานก็ตาม
แม้ว่าบรรดาหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนจะได้ดำเนินการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจังในการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ รวมถึงได้มีมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทำให้การกระทำความผิดมีแนวโน้มลดลงตามลำดับแล้วก็ตาม รัฐยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรณรงค์โดยใช้กลยุทธ์ด้านการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบให้ข้อมูลและการสื่อสารระหว่างรัฐและประชาชน เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้องครบถ้วนและทันเวลาก่อนที่ความเสียหายต่างๆจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีช่องทางในการสื่อสารกับภาครัฐเพื่อแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นแนวร่วมสำคัญ เพราะสามารถให้ข้อมูลข่าวสารแก่รัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะหน่วยประสานงานการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจึงได้ร่วมมือกับ 5 หน่วยงานหลัก ที่มีบทบาทและหน้าที่ป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมธุรกิจพลังงาน (กรมทะเบียนการค้า) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดให้มีโครงการประชาสัมพันธ์ "การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน" ขึ้น เพื่อกระตุ้นและสร้างทัศนคติให้ประชาชนเห็นว่าน้ำมันเถื่อนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ซึ่งควรที่จะร่วมกันรณรงค์ต่อต้านน้ำมันเถื่อนอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อน
นายเมตตา บันเทิงสุข รองผู้อำนวยการฯ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ในโครงการนี้ จะใช้กลยุทธ์การสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two-way communications) เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างภาครัฐและประชาชนให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นและช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วทันเวลา เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน การจัดสรรช่องทางการสื่อสาร แบบ 2 ทางดังกล่าว ทำได้โดยผ่านทางสายด่วนโครงการรวมพลังต้านน้ำมันเถื่อน (Call Center) ที่หมายเลข 0-2662-3288 นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเว็บไซด์เฉพาะกิจ และเปิด ตู้ ป.ณ. เฉพาะกิจ ไว้เป็นพิเศษเพิ่มความเข้มแข็งในระบบการสื่อสารข้อมูล โดยรัฐจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนผ่านทางช่องทางต่างๆนี้ ซึ่งจะเป็นการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน การสร้างเครือข่ายในการป้องกันและปราบปราม รวมทั้งมาตรการสำคัญๆของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะเน้นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนผ่านสารคดีทางโทรทัศน์ และ สถานีวิทยุ การจัดทำสกู๊ปและการรายงานข่าวทางสื่อสิ่งพิมพ์ ขณะเดียวกันรัฐก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถสอบถามข้อมูล แจ้งข่าวสาร แจ้งเบาะแส เกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนเข้ามา โดยการแจ้งข่าวสารและเบาะแสเข้ามานั้น รัฐได้มีการมาตรการป้องกันความปลอดภัยแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสเข้ามาอย่างรัดกุม เพื่อให้ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นข้อมูลลับเฉพาะ เพื่อที่สำนักงานฯจะได้ประสานงานดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มงวดต่อไป
โครงการนี้ต้องการให้ประชาชนรับรู้ถึงพิษภัยของน้ำมันเถื่อนทั้งต่อตนเอง และ ต่อประเทศชาติ รวมทั้ง ตระหนักถึงบทบาทของตนในการดูแลและปกป้องสิทธิ์ของตนก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง รวมทั้งประเทศชาติโดยส่วนรวม นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามทำให้น้ำมันเถื่อนหมดไปจากสังคมไทย เนื่องจากมีแนวร่วมที่สำคัญ คือ ประชาชน ที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชนมีความเข้าใจในการทำงานของรัฐและรับทราบความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นายเมตตา กล่าวต่อไปว่า "สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ ซึ่งเชื่อว่า หากได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว จะเป็นการช่วยป้องกันทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง ขณะเดียวกันก็ช่วยเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย"
ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อน หรือ ต้องการแจ้งข่าวสารการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนพบเบาะแล โปรดติดต่อ สายด่วนโครงการรวมพลังต้านน้ำมันเถื่อน โทร. 0-2662-3288 หรือติดต่อที่ตู้ ป.ณ. 345 ปณจ. พระโขนง กรุงเทพฯ 10110 และที่เว็บไซด์ รวมพลังต้านน้ำมันเถื่อน www.nepo.go.th/petrol ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ข้อมูลประกอบ
โครงการประชาสัมพันธ์การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนแนวคิด:
สืบเนื่องจากประเทศไทยประสบกับปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นเวลานานโดยผู้กระทำผิดได้มีการพัฒนารูปแบบของการลักลอบนำเข้าทางทะเลหลากหลายรูปแบบ เช่น การขอคืนภาษีน้ำมันส่งออกโดยไม่ส่งออกจริง การขอคืนภาษีน้ำมันเติมเรือสินค้าไปต่างประเทศโดยไม่เติมจริง การนำสารโซลเว้นท์มาผสมในน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียอย่างมหาศาลในด้านต่างๆ เป็นอันมาก ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิต และอากรขาเข้าปีละหลายพันล้านบาท การสูญเสียตลาด รวมทั้งเครื่องยนต์เสียหายจากน้ำมันที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน
แม้ว่าบรรดาหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนได้ดำเนินการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจังในการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆมาโดยตลอด และทำให้การกระทำความผิดมีแนวโน้มลดลงตามลำดับแล้วก็ตาม แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องหานโยบายและมาตรการรณรงค์ในการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกและสร้างทัศนคติจูงใจคนไทยให้คำนึงถึงความสูญเสียของประเทศชาติในด้านต่างๆ ที่เกิดจากน้ำมันเถื่อน และเห็นว่าน้ำมันเถื่อนเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ รวมถึงรณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนตระหนัก รับทราบ และเห็นความสำคัญถึงบทบาทหน้าที่ของตนในการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน ตลอดจนลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้การกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงลดน้อยลงและหมดไปจากประเทศไทย
ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สพง.) ในฐานะหน่วยประสานงานการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจึงจัดให้มี โครงการประชาสัมพันธ์ "การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน" ขึ้น เพื่อกระตุ้นและสร้างทัศนคติให้ประชาชนร่วมกันรณรงค์ต่อต้านน้ำมันเถื่อนอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นอีกทั้ง เพื่อให้โครงการประชาสัมพันธ์ฯ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และประสบผลสำเร็จบรรลุผลตามเป้าหมายของโครงการฯ
การประชาสัมพันธ์การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนครั้งนี้ ใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการรวมพลังต้านน้ำมันเถื่อน"
โครงการรวมพลังต้านน้ำมันเถื่อน
วัตถุประสงค์ของโครงการรวมพลังต้านน้ำมันเถื่อน
- ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปให้
- ตระหนักถึงความสูญเสียอันเกิดจากน้ำมันเถื่อน
- พิษภัยของน้ำมันปลอมที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- กระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน และผู้เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงผลเสียของการกระทำผิดที่มีต่อ
- ชีวิต
- ทรัพย์สินของประชาชน
- ประเทศชาติ
- ชี้แจงให้เห็นถึงบทลงโทษที่มีต่อผู้กระทำความผิด
- สร้างความมั่นใจให้ประชาชน ถึงความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐในการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างเป็นระบบ
- เผยแพร่ผลงานและสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม และคณะกรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม (คปปป.)
- ชี้ให้เห็นถึงบทบาท และหน้าที่ขององค์กร
- ความตระหนักในหน้าที่ของตัวองค์กรเองบทบาท และหน้าที่ขององค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรด้วยกันเอง
กลุ่มเป้าหมาย
- ประชาชนทั่วไป
- กลุ่มที่ได้รับผลกระทบกับน้ำมันเถื่อน
- องค์กรที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามน้ำมันเถื่อน
- สื่อมวลชน / ผู้นำความคิด
- ผู้ค้าน้ำมันเถื่อน
กิจกรรมประชาสัมพันธ์
สื่อประชาสัมพันธ์
- การผลิตสารคดีโทรทัศน์ ความยาว 1 นาที ออกอากาศในรายการที่นี่ประเทศไทย ตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2545 - มีนาคม 2546
- สารคดียาว 10-12 นาที แสดงภาพรวมของสถานการณ์น้ำมันเถื่อน นโยบายและแนวทางป้องกันและปราบปราม รวมถึงผลสำเร็จของการดำเนินการ
- สารคดี รวมพลังต้านน้ำมันเถื่อน ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียวทั่วทุกภาคของประเทศ
- คอลัมน์พิเศษ "แกะรอยน้ำมันเถื่อน" ทางหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
- การจัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่เรื่องน้ำมันเถื่อน จำนวน 5,000 เล่ม
การจัดประชุมและระดมความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการ และ Workshop
- จำนวน 80 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักข่าวจำนวน 20 คน
การนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการปฏิบัติการน้ำมันเขียวนอกชายฝั่งทะเลภาคใต้
ช่องทางการสื่อสารตรงและการสื่อสารแบบสองทาง
- ศูนย์สื่อสารสัมพันธ์ (call center) 0- 2662-3288
- ตู้ ปณ.เฉพาะสำหรับกิจกรรม ตู้ปณ. 345 ปณจ. พระโขนง กรุงเทพฯ 10110
- เว็บไซด์เฉพาะกิจ www.nepo.go.th/petrol
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดจากการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน
- ประชาชน สื่อมวลชน ผู้นำความคิดให้ความร่วมมือ
- สร้างสรรค์ให้เกิดแนวการปฏิบัติการในเชิงรุกเพื่อประโยชน์ในการต่อยอดของโครงการในอนาคต
- ผู้ประกอบการน้ำมันให้การสนับสนุน
- กระบวนการค้าน้ำมันเถื่อนลดน้อยลงหรือหมดไปจากสังคมไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ธอมสัน พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณแพรสิรินธร์ นัยนานนท์ / คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์
โทร 0-2260-0820 ต่อ 3166 , 2193
โทรสาร 0-2259-9246
E-mail: wongchan.tansongsak@jwt.com-- จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ