เปิดตัว มูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ (ประเทศไทย) ต้านมหันตภัยใหม่รุกคืบชาวโลก

ข่าวทั่วไป Thursday October 17, 2002 08:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--เบรคธูร พีอาร์
หวั่นคนไทยเป็นเหยื่อมฤตยูเงียบ มูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ(ประเทศไทย) เปิดตัวแล้ว พร้อมรณรงค์เพื่อคนไทย “กันไว้ดีกว่าแก้” เผยความเร่งด่วนของปัญหา หากไม่รีบวางแผน คนค่อนโลกไม่พ้นเป็นเหยื่อแน่
รองศาสตราจารย์นายแพทย์มงคล วัฒนสุข ประธานกรรมการมูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกจำนวนมหาศาล ต้องทนทุกข์กับโรคกระดูกและข้อ ส่งผลกระทบทั้งต่อสภาพร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก จึงได้กำหนดและประกาศให้ปี ค.ศ. 2000-2010 เป็น “ทศวรรษโรคกระดูกและข้อ” รวมทั้งกำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันโรคข้อสากล (World Arthritis Day)” เพื่อจัดกิจกรรมอันเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วโลก นอกจากนี้ยังจัดตั้ง “คณะกรรมการทศวรรษโรคกระดูกและข้อสากล” เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของสหประชาชาติ องค์กรอนามัยโลก และธนาคารโลก ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิก จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ อบรมให้ประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภัยมืดของโรคเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ( Musculoskeletal System) โดยการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนรัฐบาลที่บริหารประเทศ
“โครงการรณรงค์นี้ได้รับความสำคัญอย่างมาก เห็นได้จากการที่มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมโครงการนี้แล้วถึงมากกว่า 80 ประเทศ ในประเทศไทย คณะแพทย์ก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญเช่นกัน จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายการปฏิบัติงานสำหรับประเทศไทยทศวรรษโรคกระดูกและข้อขึ้น โดยมีผมเป็นผู้ประสานงาน และโดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากองค์กรวิชาชีพและองค์การกุศลเป็นจำนวนมาก เราได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ (ประเทศไทย) ขึ้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในการรณรงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งได้จัดงานวันโรคข้อสากล เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนปีนี้เป็นปีแรกด้วย” รองศาสตราจารย์นายแพทย์มงคลกล่าว
ทั้งนี้องค์กรที่ร่วมกันก่อตั้งและให้การสนับสนุนได้แก่สมาคมและราชวิทยาลัยของแพทย์หลายแห่ง คือ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิคส์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย, ชมรมศัลยแพทย์ทางมือแห่งประเทศไทย, สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี,มูลนิธิโรคข้อแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสโมสรโรตารี ภาค 3350
รองศาสตราจารย์นายแพทย์มงคล วัฒนสุขยังเปิดเผยถึงความเร่งด่วนของปัญหาอีกว่า ปัจจุบันประชากรโลกมีถึง 6,000 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและวัยทำงาน ขณะที่ในปี ค.ศ. 2020 องค์การอนามัยโลกได้ทำนายว่า ประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะมีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภัยเงียบของโรคกระดูกและข้อมากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับปัญหาโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันโรคกระดูกและข้อรวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อยังคงเป็นโรคที่ถูกมองข้าม ต่างกับโรคเบาหวาน, โรคหัวใจหรือโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ทั้งนี้ โรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย มีอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1. โรคข้อชนิดต่าง ๆ เช่น โรคข้อเสื่อม โรครูมาตอยด์ โรคเกาท์ 2. โรคกระดูกพรุน ซึ่งทำให้กระดูกหักง่ายในผู้สูงอายุ ที่พบบ่อย คือ กระดูกสะโพกหัก 3.โรคกระดูกสันหลังรวมถึงโรคปวดหลัง และ4. อุบัติเหตุของแขนขา
เสนอข่าวในนาม มูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทย โดยเบรคธรู พีอาร์
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง -- เบรคธรู พีอาร์ โทร. 0-2719-6446-8--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ