กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
โดย นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์
แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง
รพ.กล้วยน้ำไท ( แผนกผู้สูงอายุ )
?
Jogging ลดเสี่ยงความดันโลหิตสูง
หนุ่มสาวออฟฟิศที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในเมือง ชีวิตที่ดูเหมือนง่ายและสะดวกสบาย แต่จริงๆ แล้วกลับเต็มไปด้วยความเครียดที่สะสมทั้งจากเรื่องงาน ครอบครัว การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ เกิดผลเสียต่อสุขภาพทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเร็ว และเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคความดันสูงที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก พบมากในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
แต่หนุ่มสาวที่อยู่ในช่วง 25 — 39 ก็ไม่ควรละเลย ควรวัดความดันโลหิตของตัวเองปีละครั้งขึ้นไปเช่นกัน และค่าความดันโลหิตไม่ควรเกิน 140 / 90 มม.ปรอท ในทุกวัย
ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโลก และในประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยมีภาวะความดันสูงมากถึง 10 ล้านคน และมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ทราบว่าคนเองมีภาวะความดันสูง จึงไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง และอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย อัมพาต ฯลฯ
วิ่งจ็อกกิ้งลดเสี่ยงความดันโลหิตสูงได้อย่างไร?
นพ. สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง รพ.กล้วยน้ำไท ( แผนกผู้สูงอายุ ) เปิดเผยว่า “
การวิ่งจ็อกกิ้งช่วยลดเสี่ยงความดันโลหิตสูงได้ เพราะเป็นการออกกำลังกายแบบแอร์โรบิค ( Aerobic Exercise ) คือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนของเลือด ขณะออกกำลังกายหัวใจจะบีบตัวมากขึ้นเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใช้เปลี่ยนเป็นพลังงาน หลอดเลือดจะเกิดการขยายตัวกว้างขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถส่งเลือดได้มากขึ้น หากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เลือดจะสามารถไหลเวียนได้ง่าย หัวใจไม่ต้องใช้แรงบีบมากในการส่งเลือด ความดันเลือดจึงต่ำลง นอกจากนี้การจ็อกกิ้งยังมีผลดีต่อหลอดเลือดแดงเพราะทำให้เยื่อบุหลอดเลือดแดงดีขึ้น มีการเกาะตัวของคอเลสเตอรอลน้อยลง ด้วย ”
นอกจากนี้การจ็อกกิ้งเป็นประจำยังทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น การบีบและคลายตัวของหัวใจทำงานได้ดีเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย จากรายงานทางการแพทย์ระบุว่า “ถ้าใช้เวลา 25-30 นาที วิ่งจ๊อกกิ้ง 5 วัน : 1 สัปดาห์ เป็นประจำปกตินิสัย สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อร่างกาย ช่วยควบคุมความดันโลหิตเข้าสู่ภาวะปกติ ลดระดับคลอเรสเตอรอล ป้องกันความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจวาย Heart Attack ลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดปัญหาจากโรคหัวใจ “
?
หลายคนชอบวิ่งตอนเช้า เพราะอากาศสดชื่น สบาย หรือบางคนอาจเลือกวิ่งตอนเย็นเพราะสะดวกไม่ต้องรีบ ได้สะสางงานและธุระต่างๆ เรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มจ็อกกิ้ง และสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันสูงอยู่แล้ว ควรเริ่มจากการเดินก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเริ่มต้นไม่ควรเดินนานเกิน 30 นาที ควรวิ่งทุกวัน หรืออาทิตย์ละ 4 ครั้งขึ้นไป เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้วค่อยปรับเป็นการวิ่งอย่างช้า ๆ แล้วค่อย ๆ ปรับระยะทางให้ไกลขึ้นตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย
เตรียมตัวอย่างไร? ก่อนวิ่งจ็อกกิ้ง
1.ยืดกล้ามเนื้อ การยืดเหยียดร่างกาย (Stretching) เป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความผ่อนคลาย เราควรมีการยืดเหยียดร่างกายก่อนออกกำลังกาย
2. วอร์มอัพ ถ้าจ็อกกิ้งก็ใช้การเดินช้าๆ 1-2 รอบ หรือวิ่งเหยาะๆ 10-15 นาที
3. จ็อกกิ้ง ตามความพร้อมของร่างกาย ไม่ควรฝืนเกินร่างกายจะรับไหว
4. เดินช้าๆ 1-2 รอบ หรือวิ่งเหยาะๆ 10-15 นาที
คุณควรหลีกเลี่ยงการวิ่งจ็อกกิ้ง
- ขณะอากาศร้อนจัด อาจทำให้ช็อคได้
- หลังอาหารภายใน 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารมื้อหนัก
- ก่อนนอน 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้นอนไม่หลับ
เมื่อไหร่ที่ควรหยุดวิ่งจ๊อกกิ้ง?
- เมื่อเริ่มหายใจหอบถี่, หายใจไม่ทัน
- มีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น
- รู้สึกหายใจไม่ออก
- หัวใจเต้นเร็วมาก หรือเต้นผิดจังหวะ
- รู้สึกแน่นท้อง
- รู้สึกเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกเหนื่อยมาก
- มีลมออกหู หูตึงกว่าปกติ
- ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ได้
“ การวิ่งจ็อกกิ้งสามารถวิ่งที่ไหนก็ได้ เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่ใช้พื้นที่น้อยได้ เช่นในบ้าน รอบบ้าน ในหมู่บ้าน ฟิตเนส เป็นต้น หรือถ้าต้องการวิ่งได้บรรยากาศเปลี่ยนวิวทิวทัศน์ไปเรื่อยๆ ได้เจอเพื่อนร่วมวิ่ง ได้เห็นต้นไม้ใบหญ้าเขียวๆ ยิ่งทำให้รู้สึกสดชื่น สวนสาธารณะก็เป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งในกรุงเทพฯ จำนวนมากที่สามารถเข้าไปวิ่งได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่ต้องเริ่มออกกำลังกายทีละนิด สุขภาพก็จะค่อยๆ ดีขึ้นแข็งแรงขึ้น ” นพ.สุวินัยกล่าวทิ้งท้าย
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-399-4259-63 รพ.กล้วยน้ำไท แผนกผู้สูงอายุ