กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--โรงเรียนปทุมวัน
เทคนิคในการนำองค์ความรู้จากภายนอก เพื่อปรับใช้กับการเรียนการสอน เพื่อให้เหมาะกับบริบทในสังคมของแต่ละสังคม แต่ละประเทศ ในบางครั้งอาจดูเหมือนหลักการของประเทศหนึ่งไม่อาจนำมาใช้กับอีกประเทศหนึ่งได้ ด้วยเพราะคิดว่าติดข้อจำกัดทางด้านสังคม กฎระเบียบ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงการเปิดใจยอมรับกับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โรงเรียนปทุมวัน ได้พลิกกระบวนการเรียนการสอนแบบทลายปราการข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวง หลังจากที่ได้ติดตามชมซีรีส์การสอนวิทยาศาสตร์ตอน Crime Scene Investigation ทั้ง 4 ตอน ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ครู โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
คุณครูโรงเรียนปทุมวันก็ได้แรงบันดาลใจ ที่จะนำวิธีการสอนวิทยาศาสตร์แบบสืบสวนสอบสวนมาปรับใช้กับนักเรียนชั้น ป.6 เพื่อปลูกฝังการเรียนรู้ด้วยการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์การเรียนรู้จาก ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
อาจารย์จุฑาภัค มีฉลาด ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมวัน เล่าว่า กระบวนการเรียนวิทยาศาสตร์ผ่านคดีนักเรียนได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Center) จากนั้นจึงใช้วิธีการติดตามประเมินผลผลผลิตของผู้เรียน โดยการประเมินมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการได้แก่ 1.ผู้บริหารของโรงเรียนจะต้องเปิดใจรับนวัตกรรมการเรียนการสอนแบบใหม่เข้ามาในโรงเรียน และรับความสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือแทนที่จะมีแต่ครูเพียงฝ่ายเดียว แต่มีตำรวจจาก สน.ปทุมวัน กองพิสูจน์หลักฐานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาช่วยให้ความรู้ และร่วมทำงานกับนักเรียน ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งทำให้เด็กตื่นเต้น และเรียนรู้แบบ long term memory ขั้นตอนในการเตรียมการในเรื่องนี้ ผอ.และคณะครูทุกคนมาประชุมหารือกันว่า จะสมมุติสถานการณ์ไหน เพื่อให้เข้ากับเนื้อหาที่จะเรียน และเด็กเองมีความรู้สึกร่วม แต่ที่สำคัญครูทุกคนจะต้องเก็บทุกเรื่องราวเป็นความลับ มิฉะนั้นกระบวนการเรียนการสอนจะถือว่าล้มเหลว โดยคณะครูได้ตกลงกันว่าจะสมมุติเหตุการณ์เงินที่นักเรียนมีส่วนร่วมกันสะสมจำนวน 18,000บาท และฝากให้คุณครูเก็บรักษาไว้ได้หายไป โดยตั้งผู้สงสัยที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งสิ้น 5 คน เป็นครู 4 คน ส่วนอีกคนเป็นภารโรง ที่เข้านอกออกในห้องเก็บเงิน โดยทางทีมงานได้เรียกผู้ต้องสงสัยทุกคนมาซักซ้อมทำความเข้าใจ
เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว ก็ให้ผู้ต้องสงสัยทุกคนไปดำเนินการทิ้งหลักฐานไว้ เมื่อถึงวันจริงทุกอย่างจึงราบรื่น แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเปรียบเหมือนวิกฤติของนักเรียน แต่ก็ถือเป็นโอกาสในการได้เรียนรู้คู่ขนานไปกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงคือตำรวจ ซึ่งได้ใช้กระบวนการทุกอย่างในการสืบคดีจริง ทำให้เด็กเกิดความตื่นเต้น ประทับใจ และเกิดแรงบันดาลใจที่อยากเป็นตำรวจ เด็กบางคนไปศึกษาเพิ่มเติมและตั้งเป้าตัวเองชัดขึ้น กระบวนการทุกขั้นตอนที่โรงเรียนได้จำลองขึ้นนั้น ผู้ปกครองได้มีโอกาสมาดูด้วย ซึ่งทุกคนไม่มีใครทราบเลยว่าเป็นเพียงสถานการณ์จำลอง
กระบวนการสืบค้น พิสูจน์หลักฐานมีความเข้มข้น นักเรียนตื่นเต้นกับการเก็บหลักฐาน แยกหลักฐานอย่างละเอียดโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หนึ่งในหลักฐานเป็นกระดาษที่เขียนข้อความบางอย่างทิ้งไว้ในห้องที่เกิดเหตุ ผู้ต้องสงสัยจะใช้ปากกาที่ใช้หมึกเจลเหมือนกัน แตกต่างกันเพียงยี่ห้อ ซึ่งกระบวนการพิสูจน์ต้องแยกสี ด้วยกระบวนการเคมี ในความเหมือนจึงมีความต่าง จึงนำไปสู่ข้อเท็จจริงว่าใครคือเจ้าของปากกาที่เขียนลงบนกระดาษ ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวเนื่องกับวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้ใช้องค์ความรู้ของวิชาศิลปะ คณิตศาสตร์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
กระบวนการตรวจหลักฐานถึงขั้นตอนสุดท้ายและนำสืบได้ว่า ผู้ต้องสงสัยคือ ครูเบิร์ด ซึ่งเจ้าตัวแอบกังวลว่า ตนเองเป็นเจ้าของโครงการธนาคารความดีที่ให้เด็กนำความดีมาฝากในแต่ละวัน เด็กอาจจะช็อกถ้ารู้ว่าครูเบิร์ดคือคนเอาเงินไป จึงแก้สถานการณ์เป็นครูเบิร์ดได้แจ้งทางผู้อำนวยการโรงเรียนหรือ ผอ.แล้วว่าจะนำเงินมาฝาก ผอ.ไว้ที่ห้อง แต่ ผอ.ไม่อยู่จึงนำไปเก็บไว้ที่ใต้ฐานพระ โดยครูเบิร์ดได้ส่งข้อความบอก ผอ.แล้ว แต่ ผอ.ลืมเปิดดูข้อความ และได้มาอ่านต่อหน้านักเรียนว่าครูเบิร์ดส่งข้อความมาแล้วจริงๆ ทุกอย่างจึงจบด้วยดี
ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า ทางโรงเรียนได้สอบถามความเห็นจาก ผู้ปกครองให้การตอบรับเป็นอย่างดี และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สุดยอด หลายโรงเรียนก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อเป็นการเรียนรู้แบบไม่น่าเบื่อ และไม่ยากจนเกินไป เพราะวิชาวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อนำมาปรับใช้กับคดีตามที่โรงเรียนได้ดำเนินการ เด็กชอบและทำให้การเรียนรู้เรื่องยากเป็นเรื่องที่สนุก แต่ต้องวางแผนให้ดีและรัดกุม
ผลดีอีกประการที่ทางโรงเรียนปทุมวันได้รับคือ ผ่านการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อยู่ในระดับดี เนื่องจากได้ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทาง สมศ.กำหนดไว้
ติดตามเรื่องราวดีๆ ของการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของโรงเรียนต่างๆ ได้ ทางสถานีโทรทัศน์ครู ออกอากาศทุกวัน 24 ชั่วโมง หรือติดตามรายการย้อนหลังได้ที่ www.thaiteachers.tv และร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายโทรทัศน์ครู (Teachers Network) เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้กับเพื่อนครูทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0-2745-8112-3 ต่อ 309
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2745-8112-3 ต่อ 309 โทรทัศน์ครู