กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศงคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งประกาศยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ“ยังไม่ชัดเจน” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตของบริษัทเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 หลังจากบริษัทประกาศซื้อสินทรัพย์ในสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำตลาดภายในประเทศของบริษัท ตลอดจนภาวะตลาดที่ผู้ผลิตภายในประเทศได้รับการปกป้องในรูปของโควต้าและอากร และการที่บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นจากการซื้อสินทรัพย์ในโรงถลุงเหล็ก Teesside Cast Products (TCP) ในสหราชอาณาจักร ในขณะที่จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงจากทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนลักษณะของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความผันแปรตามวงจร ราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวน และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการซื้อ TCP
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 จะปรับตัวดีขึ้นและบริษัทจะสามารถคงระดับเงินสดให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจมีการปรับสถานะเพิ่มขึ้นหากโรงงานผลิตเหล็กของบริษัทเริ่มดำเนินงานได้อย่างราบรื่นและบริษัทได้รับประโยชน์จากธุรกิจที่ครบวงจรเนื่องจากการมีโรงงานผลิตเหล็กเป็นของตนเองตามที่วางแผนไว้ ในทางตรงกันข้าม หากโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงจากการที่โรงงานผลิตเหล็กไม่สามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ตามแผน หรือบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีเป็นผู้นำการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot Rolled Coil - HRC) ในประเทศ ปัจจุบันมีผู้ผลิตทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี บริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จีเจสตีล จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทเป็นผู้นำตลาดทั้งในด้านปริมาณการผลิตและยอดขาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งบริษัทจีสตีลและบริษัทย่อยคือจีเจสตีลสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากปัญหาการเงิน ทั้งนี้ ในปี 2553 บริษัททั้ง 2 แห่งดังกล่าวมีปริมาณขายรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายของบริษัท โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในปี 2553 อยู่ที่ 36% อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจีสตีลและบริษัทจีเจเอสปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติในปี 2555 ก็จะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในอนาคต
กระบวนการผลิตของบริษัทแตกต่างจากโรงงานผลิตเหล็กแบบครบวงจรและโรงหลอมเหล็กขนาดเล็กโดยทั่วไปเนื่องจากบริษัทไม่ได้ผลิตเหล็ก แต่นำเหล็กแท่งแบนกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished Slab) ไปผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นเหล็กแผ่นชนิดม้วน (Flat-rolled Coil) อย่างไรก็ตาม หลังจากซื้อ TCP สำเร็จในเดือนมีนาคม 2554 บริษัทจึงมีสถานะเป็นผู้ประกอบการเหล็กแบบครบวงจรด้วยกำลังการผลิตเหล็กแท่งแบนปีละ 3.6 ล้านตัน กระนั้น บริษัทก็ยังต้องนำเข้าเหล็กแท่งแบนเพื่อนำมาทำการรีดร้อนภายในประเทศอยู่ อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อสินทรัพย์ในครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากบริษัทจะมีวัตถุดิบคือเหล็กแท่งแบนที่เพียงพอสำหรับการผลิต ซึ่งจะเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงรีดให้มีมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มปริมาณการขาย และเพิ่มสัดส่วนการขายเหล็กคุณภาพสูง นอกจากนี้ การมีโรงงานผลิตเหล็กแท่งแบนเป็นของตนเองยังจะช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น ซึ่งจะลดความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานลง นอกจากนี้ สินแร่เหล็กและถ่านหินซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตก็มีราคาที่ผันผวนน้อยกว่าเหล็กแท่งแบนด้วย อย่างไรก็ตาม การมีโรงงานผลิตเหล็กทำให้บริษัทมีต้นทุนคงที่ที่สูงขึ้น ในส่วนของการผลิตเหล็กแท่งแบนนั้นบริษัทจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ 2 เดือน ทั้งนี้ โรงงานต้องเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากหยุดผลิตไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ขณะนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิต โดยบริษัทวางแผนลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,300 ล้านบาท) สำหรับช่วง 6 เดือนข้างหน้าหลังจากที่ได้ลงทุนไปแล้ว 684 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (20,487 ล้านบาท) ในการซื้อสินทรัพย์ของ TCP
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงสถานะทางการเงินของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีว่ามีความผันผวนอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนถึงความแปรปรวนของอุตสาหกรรมเหล็ก ในปี 2551 บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวนมากซึ่งเป็นผลมาจากราคาและการบริโภคเหล็กที่ลดลงอย่างมากจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ผลประกอบการของบริษัทกระเตื้องขึ้นในปี 2552 จากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและผู้ประกอบการภายในประเทศรายอื่นอ่อนแอลง ผลประกอบการของบริษัทฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2553 ทว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวน 818 ล้านบาทซึ่งเกิดจากการที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายเตรียมการในโรงงานผลิตเหล็กในสหราชอาณาจักรจำนวนมาก นอกจากนี้ เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ยังทำให้ความต้องการเหล็กแผ่นรีดร้อนในไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลงเนื่องจากห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ได้รับผลกระทบ ในขณะที่การซื้อ TCP ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 18,936 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2553 เป็น 37,250 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 48.78% ในปี 2553 เป็น 60.04% ณ เดือนมิถุนายน 2554 ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้จะปรับเพิ่มขึ้นต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีจากการที่บริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 6,300 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ TCP อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาระหนี้จะค่อย ๆ ปรับลดลงในระยะปานกลางจากการมีกระแสเงินสดที่จะได้รับจากการผลิตเหล็กแท่งแบนและผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเหล็กรีดร้อน
อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐในระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการภายในประเทศจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดของรัฐบาลซึ่งอยู่ระหว่าง 3.45%-128.11% สำหรับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากผู้ผลิต 14 ประเทศ กระนั้น ผู้ประกอบการภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบในด้านลบจากการนำเข้าเหล็กราคาถูกในปริมาณมากจากประเทศที่ไม่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดดังปรากฎให้เห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 อย่างไรก็ตาม การที่เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 กระทรวงพาณิชย์เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเพิ่มสำหรับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากประเทศจีนและมาเลเซียน่าจะทำให้แรงกดดันที่มีต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการภายในประเทศในครึ่งหลังของปี 2554 บรรเทาลง ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (SSI)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)