การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Thursday September 15, 2011 13:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--มหาวิทยาลัยคริสเตียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติมีมูลค่ามหาศาล จึงมอบหมายให้ฝ่ายวิจัยทำการสำรวจความคิดเห็น ของประชาชนเรื่องการเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย โดยดำเนินการสำรวจในกลุ่มประชาชน อายุ 18 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐม จำนวน 3,374,401 คน คำนวณตามหลักการกำหนดกลุ่มตัวอย่างของยามาเน ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ต้องใช้ในการสำรวจ 1,111 คน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายด้านอายุ อาชีพ และการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 โดยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามที่คณะผู้สำรวจสร้างขึ้นจำนวน 1,300 ฉบับ ได้รับแบบสอบถามที่สมบูรณ์ใช้ในการวิเคราะห์จำนวน 1,116 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 85.85 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้ ประชาชนในกลุ่มภาคกลางตอนล่างซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงร้อยละ 52.6 (587 คน) เป็นชายร้อยละ 47.4 (529 คน) มีอายุระหว่าง 18- 26 ปี ร้อยละ 36.6 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 25.2 ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน / นักศึกษา ร้อยละ 24.3 รองลงมาคือ เจ้าของกิจการ ค้าขายและธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.6 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 43.2 รองลงมาคือระดับปวช. ร้อยละ 23.7 และส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 97.3 กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 29.1 มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลันมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 23.2 วิตกกังวลเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว ส่วนอีก ร้อยละ 16.8 วิตกกังวลเกี่ยวกับการเกิดไฟไหม้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.3 และ ร้อยละ 11.8 ที่วิตกกังวลพายุใต้ฝุ่นและดินถล่ม ตามลำดับ และมีเพียงร้อยละ 2.9 ที่มีความกังวลเกี่ยวกับการเกิดสึนามิ ในเรื่องความเชื่อมั่นต่อการเตรียมการป้องกันภัยพิบัติ ร้อยละ 54.9 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีความเชื่อมั่นต่อความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการจัดการรับมือกับภัยพิบัติอยู่ในระดับมาก และร้อยละ 42.3 ที่มีความเชื่อมั่นต่อการประกาศของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของประเทศไทยในระดับมาก และร้อยละ 31.8 เห็นว่าประชาชนไทยจะสามารถจัดการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับมากเช่นกัน ในการเตรียมความรู้และความพร้อมให้ตนเองในการจัดการรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.6 คิดว่าควรศึกษาวิธีการดูแลตนเองและคนในครอบครัวขณะเกิดภัยพิบัติ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.8 ที่คิดว่าจะย้ายที่ทำงานไปทำในที่ตั้งที่คิดว่าปลอดภัยกว่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 22.4 ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าควรรับฟังข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรับมือจัดการภัยพิบัติ ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ที่ต้องการจัดเตรียมอาหารแห้งสิ่งของจำเป็นไว้ตลอดเวลา (ร้อยละ 22.0) นอกจากนี้มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.4 ที่คิดอยากย้ายบ้านไปอยู่ที่ในที่ตั้งที่คิดว่าปลอดภัย กลุ่มตัวอย่างมีวิธีปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน เพื่อลดผลกระทบ หรือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยและโลกที่น่าสนใจ ดังนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.8 คิดว่าควรใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด และร้อยละ 53.4 จะใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากนั้นร้อยละ 38.8 เห็นควรใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และร้อยละ 38.4 เห็นว่าควรใช้กระดาษทั้ง 2 หน้า ร้อยละ 32.1 จะลดการใช้กล่องโฟม ร้อยละ 28.0 ลดการใช้น้ำมันเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นแทน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.7 โดยสารรถคันเดียวกันไปทำงานหรือไปเรียน จากผลสำรวจในครั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชาชนในจังหวัดกลุ่มภาคกลางตอนล่างมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเกิดภัยพิบัติในลักษณะที่แตกต่างกัน และมีความเชื่อมั่นต่อการประกาศเตือนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นและการเตรียมการรับมือจัดการกับภัยพิบัติค่อนข้างน้อย แต่กลุ่มตัวอย่างก็มีศึกษาวิธีการดูแลตนเองและคนในครอบครัวขณะเกิดภัยพิบัติ มีการรับฟังข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรับมือจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งมีการจัดเตรียมอาหารแห้งสิ่งของจำเป็นไว้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรับมือและจัดการกับภัยพิบัติได้ ดังนั้นบุคคลในครอบครัว ชุมชน รัฐบาล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ควรให้ความสนใจ เอาใจใส่ดูแล และคอยติดตามรับฟังข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับภัยพิบัติ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเตรียมการดูแล ป้องกันไม่ให้คนในครอบครัวได้รับอันตรายน้อยที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน โดยการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติประจำทุกจังหวัด และให้ความสำคัญในเรื่องการประกาศของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของประเทศไทย การป้องกัน และการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนวางแผนดูแลการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด หรือหากเกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยขึ้นแล้ว ก็ต้องเร่งรัดในการเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องไม่ให้เป็นเรื่องไฟไหม้ฟาง ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 034-229-480 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ