กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ศ.ศ.ป.
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ผลักดันการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เน้นนำเสนอผลงานใหม่ๆ ที่สร้างความโดดเด่น อวดผลงานสู่เวทีระดับนานาชาติ ในงานแสดงสินค้า Maison et Objet ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 9 — 13 กันยายนนี้
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยว่า การผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตกรรมไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ และสามารถเข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มผู้บริโภคที่มีใจรักในงานศิลปาชีพได้นั้น “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์” นับว่ามีความสำคัญยิ่ง ศ.ศ.ป.จึงได้ส่งเสริมให้นำผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่เป็นเป้าหมาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้า, ผลิตภัณฑ์เครื่องโลหะ, ผลิตภัณฑ์เซรามิก, ผลิตภัณฑ์จักสาน ก้าวเข้าสู่ตลาดระดับสากล ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในงานแสดงสินค้า Maison et Objet ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 — 13 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีพบปะเจรจาที่รวบรวมนักออกแบบและผู้ผลิตงานชั้นนำ เข้ามานำเสนอผลงานใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่น เพื่อเสนอให้กับผู้บริโภคทั่วโลก
ทั้งนี้ ศ.ศ.ป. ได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบเข้าร่วมจัดแสดงภายในงาน ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นให้สามารถนำมาต่อยอดใช้งานได้จริง อาทิ พัฒนาให้มีความร่วมสมัย ยังคงความเป็นไทย และสามารถนำไปเป็นของใช้ของประดับตกแต่งบ้านในต่างประเทศได้อย่างลงตัวโดยเน้น ความเรียบง่าย เอกลักษณ์ไทย และ ประโยชน์ใช้สอย , ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานหัตถกรรมอย่างกว้างขวางจากวัตถุดิบต้นแบบธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่ผสมผสานงานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยความประณีต สวยงาม ให้เข้ากับความทันสมัย ความร่วมสมัยของงานแฟชั่นปัจจุบันอย่างลงตัว เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศ.ศ.ป. จึงได้เลือกทีมงานนักออกแบบไทย และออกแบบชิ้นงาน ออกมาภายใต้คอนเซป “นกยูง” ซึ่งเป็นสัตว์ที่นิยามได้ในเรื่องของความสวยงาม ความสง่างาม ความรัก ความรู้สึกภูมิใจและทะนงตน จิตวิญญานและความสงบ มาเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นตัวแทนมนุษย์ที่ยึดมั่นในคุณธรรม ความงามทั้งด้านรูปร่าง จิตใจ โดยถ่ายทอดออกมาทางสีสัน ลวดลายที่อยู่วาดอยู่บนตัวนกยูง ที่ชวนมองอย่างเห็นได้ชัด มารังสรรค์ให้เกิดงานผลงานที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ ด้วยจินตนาการ พิจารณาจากต้นแบบลวดลายของนกยูงมาปรุงแต่งลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความลงตัว โดยประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ในการตกแต่งเพิ่มเติม ให้ลวดลายมีความทันสมัย เมื่อออกแบบชิ้นงานแล้ว จึงทำการคัดเลือกผู้ผลิตชิ้นงานที่มีมาตราฐาน และมีประสบการณ์จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ/กลุ่มชาวบ้าน/วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ผลิตชิ้นงานต่างๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์
สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของงานหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศได้ และจะนำมาซึ่งรายได้ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่พัฒนาเพื่อนำเสนอในงาน แบ่งโดยวัตถุดิบได้ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1 งานไม้ : ได้นำงานหัตกรรมจากไม้มะม่วง ซึ่งผลิตจากไม้มะม่วงในชุมชน จ. เชียงใหม่ มาตกแต่งลายเพิ่มเติมโดยการปั้นบนผิววัสดุและลงสีให้เกิดลวดลาย เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า
2 งานผ้า : ได้มีการนำผ้าไหมจากมูลนิธิศิลปาชีพฯ มาปักเป็นลวดลายที่มีความสวยงาม โดยได้มีการพัฒนาลวดลายที่ซับซ้อนจากธรรมชาติของหางนกยูง เป็นลายปักบนหมอนผ้าไหม นอกจากนี้ ยังมีงาน ถักโครเชต์ มาถักเป็นเปลและชิงช้าจากงานฝีมือถักของชุมชน จ.ขอนแก่น มาประยุกต์เข้ากับงานเฟอร์นิเจอร์ โดยพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการถักเพื่อให้เกิดสีสันมากขึ้น
3 งานหล่อจากวัสดุโลหะ ทองเหลือง และเงิน : ได้มีการนำวัสดุโลหะ ทองเหลือง และเงิน มาหล่อเป็นของใช้บนโต๊ะอาหาร อาทิ ชุดช้อนส้อม ที่ออกแบบให้ปลายด้ามจับมีลวดลายของหางนกยูงตกแต่ง ที่ใส่ผ้าเช็ดปาก ชามผลไม้ เชิงเทียน แจกันทองเหลืองโดยมีการนำเอาลวดลายบนตัวนกยูงมาหล่อเรียงบนภาชนะต่างๆ โดยใช้เทคนิคการลงยาเพื่อให้เกิดสีสันสวยงาม และเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยฝีมืออันประณีต
4 งานเครื่องปั้นดินเผา : ได้ทำชุดถ้วยเบญจรงค์เป็นรูปลายนกยูง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์เป็นถ้วยซุปและจานข้าวลายขอบนกยูงที่สวยงาม
คาดการณ์ว่า ภายหลังการเข้าร่วมนำเสนอผลงานศิลปหัตถกรรมไทยในงาน Maison et Objet จะเป็นโอกาสสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และช่วยให้ตลาดต่างประเทศรับรู้ว่า “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)” คือ ศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมของประเทศไทยที่รังสรรค์งานศิลปาชีพอันทรงคุณค่า และคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย