กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สภาที่ปรึกษาฯ
คณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาฯ จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง “การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเฝ้าระวังฟื้นฟูและอนุรักษ์ แม่น้ำ คูคลองของประเทศ” เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกฝ่ายตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของแม่น้ำ คูคลองและเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ฟื้นฟูและอนุรักษ์ แม่น้ำ คูคลองในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยมีผู้ร่วมการสัมมนากว่า 180 คน
โดยได้รับเกียรติจาก นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวว่า น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภค และการประกอบอาชีพ ในอดีตนั้น น้ำมีความสมบูรณ์ทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม น้ำเสีย อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และสภาวะการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ทำให้มีความต้องการใช่น้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพ และปัญหานี้มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น หากไม่มีแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิผล ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤตน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปี
ปัญหาสำคัญที่พบเห็นโดยทั่วไป คือ ปัญหาการใช้ที่ดินริมน้ำที่ไม่เหมาะสม การรุกล้ำลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งเพื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารของรัฐ สถานประกอบการของเอกชน เขื่อนริมน้ำที่รุกล้ำน้ำ กีดขวางทางน้ำ หรือการก่อสร้างอาคารริมน้ำเพื่อกิจกรรมของส่วนราชการต่างๆ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มักก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพน้ำ การปล่อยน้ำเสียจากกิจกรรมต่างๆ ลงในแหล่งน้ำโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัด ขาดการดูแลเอาใจใส่ แม่น้ำ คู คลอง ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานและมีเกือบทั่วประเทศ การใช้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไขโดยเร็ว
ทั้งนี้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเริ่มจาก
- การร่วมคิด คือ การศึกษาปัญหา เสนอแผนงานโครงการ
- การร่วมทำ หรือการดำเนินการร่วมกัน เช่น การศึกษา ให้ข้อมูล เฝ้าระวัง
- การร่วมดูแลบำรุงรักษา หรือการฟื้นฟู เพราะโครงสร้างทางด้านน้ำเกือบทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่ ที่ประชาชนเป็นผู้ใกล้ชิดและใช้ประโยชน์
- การใช้ประโยชน์ร่วมกัน
- และการร่วมติดตามประเมินผล จากวิธีการทั้งหมด
หลังจากนั้น ได้มีการบรรยายภาพรวมของคณะกรรมการลุ่มน้ำของประเทศ จาก นายวิทยา ผลประไพ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำและประเด็นปัญหาของแต่ละลุ่มน้ำ