กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สสส.
เมื่อวันที่ 3 — 4 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชนภาคใต้ จัดงาน “จาโปตาแง สื่อ ศิลปวัฒนธรรมชุมชน ภาคใต้ปี 2” ที่ตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ (สสส.) กล่าวว่า เด็กและเยาวชนในภาคใต้นับว่าเป็น “เยาวชนกลุ่มเสี่ยง” ที่อยู่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกระดับของสังคม เมื่อเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้นจะขาดความมั่นใจและรู้สึกไม่มั่นคง เพื่อเป็นการดูแลและส่งเสริมให้เยาวชนมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การเสริมสร้างพลังให้เด็กและเยาวชนในภาคใต้ได้ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองและคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัว งาน “จาโปตาแง สื่อ ศิลปวัฒนธรรมชุมชน ภาคใต้ปี 2” นี้จึงเกิดขึ้น เพื่อหนุนเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่า เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ และต้องการสืบทอดสื่อพื้นบ้านปักษ์ใต้ให้คงอยู่ต่อไป
โดย นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวต่อว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมของทั้งไทย-พุทธ และ ไทย-มุสลิม อยู่หลากหลาย งาน “จาโปตาแง สื่อ ศิลปวัฒนธรรมชุมชน ภาคใต้ปี 2” ครั้งนี้ถือว่าเป็นการมาร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นถิ่นซึ่งกันและกัน เกิดเป็นการผลัดกันเล่น ผลัดกันแสดง และผลัดกันดู เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันขึ้น ซึ่งการนำเด็กและเยาวชนในพื้นที่มาช่วยคิด - ทำ และออกแบบ โดยมีผู้ใหญ่สนับสนุนตามแนวคิดให้คน 3 วัย ที่เป็นศิลปิน ผู้เฒ่าผู้แก่ วัยทำงาน และเยาวชนร่วมกันทำกิจกรรม จนเกิดเป็นมิติทางศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์การส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนนำไปสู่การทำให้ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ (สสส.) กล่าว
ด้านนางเตือนใจ สิทธิบุรี ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชนภาคใต้ กล่าวว่า ที่ชื่อว่า “จาโปตาแง” นั้นมาจากภาษายาวี หมายถึง ความร่วมมือร่วมใจ โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนฟื้นฟูสื่อพื้นบ้าน และสานความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยความโดดเด่นที่เกิดขึ้นมีทั้งการแสดงระบำกะลา จากชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านต้นไทร, การแสดงดนตรีสร้างสุข ที่เป็นเครื่องสายลายดนตรี (สากล) จากโรงเรียนสตรีพัทลุง จังหวัดพัทลุง, การแสดงมโนราห์ตัวอ่อน จากศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง, การแสดงเครือข่ายสื่อ ศิลปวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ ได้แก่ ลิเกฮูลูเพื่อสันติภาพ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, เพลงบอก เด็ก-เยาวชน จากศูนย์เรียนรู้ศูนย์ป่าห้วยพูด, ละครมาหยา สื่อสร้างสรรค์ เยาวชน จังหวัดกระบี่, การแสดงปัญจซีละ พัฒนาสุขภาวะ เยาวชน จังหวัดนราธิวาส, ละครสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน จังหวัดสตูล, ลิเกฮูลู คณะแหลมทราย จังหวัดปัตตานี และหนังตะลุงเด็กจากศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง จังหวัดพัทลุง และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องของวัฒนธรรมอาหาร อย่างการทำข้าวยำ, ขนมดีซำ, ขนมครกพื้นบ้าน, ขนมโค, ทับทิมกรอบ โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของต้นตำรับมาสอนให้เด็กและเยาวชนที่มาร่วมงานได้ลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตัวเองไปพร้อมๆ กัน และเมื่อทำเสร็จคนที่มาร่วมงานก็มีโอกาสได้ชิมอาหารนั้นสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดช่องวางระหว่างวัยไปพร้อมๆ กันได้
“ส่วนการละเล่นพื้นถิ่นของภาคใต้ที่นิยมเล่นกันคือ “ว่าว” ในงานจึงมีการสาธิตและสอนทำว่าวแบบต่างๆ อย่างว่าวผีเสื้อ, ว่าวควาย, ว่าวรูปนก, ว่าวจุฬา จุดเด่นก็คือว่าวแต่ละตัวจะมีส่วนหัวที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีบ้านที่เปลี่ยนใต้ถุนบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นห้องสมุดย่อมๆ ใต้ถุนบ้าน มีการสอนการจักสานแบบต่างๆ ทั้งการสานไม้ไผ่เป็นผนังบ้าน, ฝ้าเพดาน, สุ่มไก่ ลวดลายต่างๆ ส่วนพื้นที่ว่ารอบๆ บ้านมีการปรับเป็นสวนสมุนไพรขนาดย่อม เพื่อการสอนให้เด็ก-เยาวชนรู้จักและปลูกปักชนิดต่างๆ ก่อนจะนำมาประกอบอาหาร อีกทั้งยังมีลานออกกำลังกายที่นำกะลามะพร้าวมาคว่ำแล้วใช้เดินเพื่อออกกำลังกายและนวดเท้าให้กับผู้สูงอายุด้วย ถือได้ว่าเป็นการใช้พื้นที่ว่างรอบๆ บ้านให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สอนให้เด็กอยู่รอดได้ด้วยตัวเองแบบพอเพียงไปในตัว” นางเตือนใจ สิทธิบุรี กล่าว
ทั้งนี้นายดนัย หวังบุญชัย ได้กล่าวเสริมอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในงานนี้ล้วนเป็นต้นแบบสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงคุณค่า ความรู้ ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนว่าทรงคุณค่าแค่ไหน หากมีการถ่ายทอดไปยังเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อให้สืบสานและสืบทอดต่อ นอกจากจะไม่สูญหายแล้ว ยังจะเกิดเป็นอัตลักษณ์ให้กับชุมชน เกิดมิติอันดีงามทางศิลปวัฒนธรรม นำไปสู่การทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างสังคมได้ หากพื้นที่อื่นจะนำไปเป็นต้นแบบโดยใช้คู่กับกระบวนการจิตอาสาได้อย่างแพร่หลาย เชื่อว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะกับเด็กและเยาวชน หรือสังคมจะเบาบางลง
“นี่เป็นเพียง 1 ใน 18 โครงการในกลุ่มงานสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนเชิงบูรณาการ ของแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. ในปีนี้ ผู้ที่สนใจกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมสามารถติดตามความเคลื่อนไหว ได้ที่ www.artculture4health.com และ www.facebook.com/Sponsorship.TH แล้วคุณจะรู้ว่าศิลปวัฒนธรรม รากเหง้า อัตลักษณ์ และความเป็นชุมชนเชิงบูรณาการที่น่าสนใจของไทยในมุมที่คุณยังไม่เห็นยังมีอีกมากมาย เชื่อว่าเมื่อได้สัมผัสจะหลงรัก และอยากจะรักษาไปอีกนานเท่านาน” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฤทัยรัตน์ ไกรรอด(จ๋า)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส.