วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก รายงานการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday November 27, 2002 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์
- ปริมาณการใช้บัตรวีซ่า ณ จุดขายในช่วงเก้าเดือนแรกเพิ่มขึ้น 26%
สิงคโปร์ - วีซ่า เอเชีย แปซิฟิก รายงานปริมาณการใช้บัตรวีซ่า ณ จุดขายในช่วงเก้าเดือนแรก สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 มีมูลค่า 175 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณเงินผ่านบัตร ซึ่งรวมการใช้บัตรวีซ่า และวีซ่า อิเลคตรอนถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มมีมูลค่า 472 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับไตรมาสนี้ ปริมาณการใช้บัตรวีซ่า ณ จุดขาย คิดเป็นเงิน 61 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
มร. รูเพิร์ท จี คีลีย์ประธานวีซ่า เอเชีย แปซิฟิกกล่าวว่า "นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่วีซ่าสามารถเติบโตได้ดีกว่าธุรกิจชำระเงินโดยรวม จากความแข็งแรงของแบรนด์วีซ่าและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะผู้นำในธุรกิจชำระเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวเอเชียที่มุ่งแสวงหาผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและบัตรเดบิตมาใช้ทดแทนเงินสดและเช็ค ผมเชื่อมั่นว่าวีซ่ายังคงเติบโตอย่างมั่นคงถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะชะลอตัวก็ตาม"
มร. คีลีย์กล่าวว่า ในช่วงเก้าเดือนแรกนี้ ประเทศเกาหลียังคงเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคนี้ โดยมีปริมาณการใช้บัตรวีซ่า ณ จุดขายมีมูลค่า 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการใช้บัตรวีซ่า ณ จุดขายในไตรมาสสาม มีอัตราเติบโต 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดที่เติบโตรองลงมา ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย มีปริมาณการใช้บัตรวีซ่า ณ จุดขายเพิ่มขึ้น 18% และญี่ปุ่น มีปริมาณการใช้บัตรวีซ่า ณ จุดขายเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
วีซ่าเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีชิพ และอี-คอมเมิร์ซมาใช้กับบัตรชำระเงิน โดยปัจจุบัน ธนาคารสมาชิกของวีซ่าได้ออกบัตรที่มีชิพมาตรฐาน EMV กว่า 8 ล้านใบ และธนาคารสมาชิกประมาณ 50 แห่งทั่วโลก กำลังนำระบบ Verified by Visa ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยในการซื้อสินค้าบนอินเตอร์เน็ตไปใช้ มร. คีลีย์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ประมาณ 5% ของการใช้บัตรวีซ่า ในเอเชีย แปซิฟิก เป็นการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 3% จากเมื่อหลายเดือนก่อน
สำหรับในประเทศจีนนั้น วีซ่ายังคงมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าฐานของธุรกิจในจีนยังมีขนาดเล็ก แต่การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 95% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ขณะนี้วีซ่าทำงานใกล้ชิดกับไชน่า ยูเนียนเพย์ (China UnionPay) ในการพัฒนามาตรฐานโครงสร้างการชำระเงิน เพื่อการเข้าเป็นภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมไปถึงการเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน ค.ศ. 2008 ณ กรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ วีซ่าทั้งหกภูมิภาค และวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนลยังมีแผนจัดการประชุมผู้บริหารในกรุงปักกิ่ง ในเดือนมิถุนายน 2546
มร. คีลีย์กล่าวสรุปว่า "วีซ่ายังคงมุ่งขยายเครือข่ายร้านค้ารับบัตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจการชำระเงินในตลาดที่กำลังเติบโต การติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการซื้อสินค้าและชำระเงินออนไลน์ การเปลี่ยนบัตรจากแถบแม่เหล็กเป็นระบบชิพ แม้ว่าการพัฒนาสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ออกบัตรรายอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับวีซ่า คือการมุ่งที่จะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค ความปลอดภัยในการชำระเงิน ตลอดจนลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของระบบชำระเงินสมัยใหม่"
วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล
วีซ่าเป็นระบบชำระเงินชั้นนำของโลก มีจำนวนบัตรออกใช้กว่า 1,000 ล้านใบทั่วโลก โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่ากว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีร้านค้ารับบัตรกว่า 29 ล้านแห่งทั่วโลก และเครื่องเอทีเอ็ม ที่รับบัตรวีซ่ากว่า 800,000 เครื่อง นอกจากนี้ วีซ่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการชำระเงินทางอินเตอร์เน็ต และในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
วีซ่า ในเอเชีย แปซิฟิกในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก วีซ่าครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 59% มากกว่าบัตรชำระเงินอื่นๆ ทุกแบรนด์รวมกันโดยคิดจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่า ณ จุดขาย ปัจจุบัน มีจำนวนบัตรออกใช้กว่า 365 ล้านใบทั่วภูมิภาค
EMV
EMV เป็นการร่วมทุนระหว่างยูโรเพย์ มาสเตอร์การ์ด และวีซ่าที่มุ่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีชิพสำหรับระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยมีการพัฒนาระบบที่สามารถใช้ร่วมกันได้ที่เรียกว่า"อินทิเกรเต็ด เซอร์กิต คาร์ด" (Integrated Curcuit Cards: ICC) และเครื่องรับบัตรชำระเงิน ปัจจุบัน EMV ให้บริการแก่ผู้ผลิตชิพการ์ด และเครื่องรับบัตรชำระเงินทั่วโลก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด
อนัญญา โศภิษฐกมล (ต่อ 110) หรือ ภิรดี วงศ์ร่มฟ้า (ต่อ 109) โทรศัพท์ 0 2664 9500 โทรสาร 0 2664 9515อีเมล์ ananya@bangkokpr.com / piradee@bangkokpr.com-- จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ