สรุปผลการสัมมนาเรื่อง "ยุคใหม่ ทำใหม่ กับตลาดตราสารหนี้ไทย"

ข่าวทั่วไป Monday December 2, 2002 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--Thai BDC
การสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการดำเนินงานของ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย เรื่อง "ยุคใหม่ ทำใหม่ กับตลาดตราสารหนี้ไทย" เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ที่โรงแรมพลาซา แอทธินี ไทยรับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากผู้เข้าร่วมสัมมนา กว่า 500 ท่าน ซึ่งมาจากบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนทั่วไป สถาบันการเงิน และหน่วยงานกำกับด้านตลาดทุน ได้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต.ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังและกรมการประกันภัย
ภายหลังพิธีการเปิดงานจากคุณสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง และ ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย แล้ว เป็นการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการเงิน 4 ท่าน ที่มาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้าให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ คุณสุชาดา กิระกุล คุณสิงหะ นิกรพันธุ์ คุณทวิช ธนะชานันท์และ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับในภาคบ่าย ได้แบ่งหัวข้อการสัมมนาเป็น 2 เรื่อง คือ ลงทุนเองหรือจะสู้มืออาชีพ ซึ่งเป็นเวทีการอภิปรายจากนักลงทุนมืออาชีพที่มีประสบการณ์อันยาวนานในเรื่องการลงทุน คือ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร คุณอัครรัตน์ ณ ระนอง คุณมาริษ ท่าราบ คุณยิ่งยง นิลเสนา และคุณสุวภา เจริญยิ่งเป็นผู้ดำเนินการสนทนา ผู้อภิปรายทั้งสี่ท่านได้นำเสนอหลักการลงทุน การคัดเลือกกองทุนประเภทต่างๆ หลักการเปรียบเทียบผลการดำเนินการ และเคล็ดลับการลงทุนเพื่อการประหยัดภาษี
หัวข้อที่ 2 ของการสัมมนาในภาคบ่ายเป็นเรื่อง "นวัตกรรมตราสารหนี้และเครื่องมือทางการเงิน" ซึ่งเป็นการนำเสนอรายละเอียดของประเภทตราสารหนี้ที่จะเป็นที่นิยมในการระดมทุนในปีหน้า ได้แก่ Securitization และ Structured notes และเทคนิคการบริการความเสี่ยงการบริหารพอร์ตการลงทุนประเภทต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะและความเห็นตามลำดับ ดังนี้
ตราสารหนี้เป็นแหล่งระดมเงินทุนของภาคเอกชนที่ทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับนักจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อ 5 ปี ที่ผ่านมา โดยบริษัทต่างๆได้เห็นความสำคัญของการระดมทุนโดยตรงเองมากขึ้น โดยผู้ออกตราสารหนี้จะกระจายแหล่งเงินทุนของตนเองให้มีความหลายหลายมากขึ้น โดยสามารถกู้จากธนาคารหรือจะกู้โดยตรงจากนักลงทุนหรือผู้ซื้อตราสารหนี้ก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถระดมทุน จากการออกตราสารหนี้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และสามารถต่อรองอัตราผลตอบแทนได้ก่อนการปิดการขายตราสารหนี้ ในประเด็นนี้ คุณมนตรี ศรไพศาล จาก บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง ได้กล่าวถึงวิธีการและเทคนิคการออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ให้แก่ผู้ออกตราสาร
ทั้งนี้การออกตราสารหนี้อาจมีค่าใช้จ่ายในด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ การเปิดเผยข้อมูลแก่นักลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้กลยุทธ์อื่นๆที่ควรคำนึงถึงคือ โครงสร้างลักษณะของตราสารหนี้ ที่จะเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนที่ต้องการขายตราสารหนี้ เนื่องจากแต่ละกลุ่มผู้ลงทุนมักมีความแตกต่างในประเภทของตราสารที่ต้องการ เช่น นักลงทุนบางประเภทอาจต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ในขณะที่บางประเภทอาจไม่คำนึงถึง แต่จะดูในเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือ
Mr.Lesi Zuo ผู้แทนธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์ตเตอร์ ได้บรรยายหัวข้อ Asset Securitization: Issuers & Investors Perspectives โดยกล่าวว่า Securitization เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนมือไม่ได้แต่เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายรับในอนาคต เช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยถ้าเจ้าของธุรกิจเหล่านั้นสามารถแปลงสินทรัพย์ที่ตนมีอยู่ให้เป็นหลักทรัพย์ได้ ที่เรียกว่า Securitization หลักทรัพย์นั้นจะมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนมือได้ และสามารถจำหน่ายแก่ผู้ลงทุนประเภทต่างๆได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ออกตราสารสามารถระดมเงินทุนมาใช้หมุนเวียนในกิจการได้
หลักทรัพย์ประเภทนี้คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต เพราะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่ธุรกิจถืออยู่ ในขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มอุปทานตราสารทางการเงินประเภทใหม่ที่มีความมั่นคงสูงให้กับผู้ลงทุน ซึ่งสามารถกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนของตนได้มากขึ้น หลักทรัพย์ประเภทนี้มักถือว่ามีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากมีสินทรัพย์ค้ำประกัน และโดยทั่วไปจะมีอันดับความเชื่อถือในระดับสูง และสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดรองได้ นอกจากนี้ Mr.Lesi ยังให้ข้อเสนอแนะถึงองค์ประกอบและโครงสร้างของกระบวนการ Securitization ในเรื่อง Amortization structure, Revolving structure, Future flow structure และ Synthetic structure อีกด้วย
คุณชาตรี โสตางกูร ผู้แทนจาก ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ได้กล่าวในหัวข้อ Risk Management for Fixed Income โดยเสนอมุมมองเรื่องการประเมินความเสี่ยงประเภทต่างๆจากการลงทุนในตราสารหนี้ ได้แก่ ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย (interest risk) ความไม่แน่นอนของอัตราผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนต่อ (reinvestment risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit risk) และ ความเสี่ยงของการขาดสภาพคล่องของตราสารหนี้ทำให้ไม่สามารถซื้อขาย ในจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสมได้ (liquidity risk)
เทคนิคการบริหารการลงทุนที่ได้กล่าวถึง ได้แก่ Immunization Active Management และ Passive Management และการคำนวณราคาตราสารหนี้ การวัดอัตราผลตอบแทนและการวัด price risk โดยใช้ duration และ convexity ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการวัดความเสี่ยงโดยการใช้ PVBP (Present value of basis point) และบริหารความเสี่ยงโดยการใช้ Hedging instrument และ Dynamic Hedging ซึ่งเป็นเทคนิคการช่วยลดผลกระทบมูลค่าของสินทรัพย์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ Mr.Jim Turnbull จาก บริษัท Alliance Capital ได้บรรยายในหัวข้อ Enhancing your portfolio with bond trading techniques and tools เขาได้นำเสนอเทคนิคการบริหารพอร์ตการลงทุนชั้นสูง 2 ประเภทหลักๆ โดยเทคนิคส่วนแรกเรียกว่า Single Security Tool ซึ่งได้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละตัว โดยช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ที่ต้องการจะลงทุน ทั้งนี้ ภายใต้การกำหนดคุณลักษณะของเงื่อนไขต่างๆ บรรทัดฐานการวัด (Benchmark) และเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ที่จะนำมาเปรียบเทียบ แล้วจึงจะคำนวณราคา hedging อัตราผลตอบแทน และ ทำการวิเคราะห์แบบ Basic horizon ได้
เทคนิคที่ 2 เป็นการหาเครื่องมือการวิเคราะห์โดยรวมของทั้งพอร์ต (Portfolio analysis tool) โดยใช้การวิเคราะห์การลงทุนของหลักทรัพย์ทุกๆตัวที่อยู่ใน Portfolio นักลงทุนสามารถสร้าง Portfolio จำลอง หรือใช้ Portfolio ที่ตนมีอยู่เปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างสิ่งที่ตนมีกับ Portfolio ที่เป็น benchmark ประเภทต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้เครื่องมือนี้สามารถใส่เงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม เช่น การกำหนดประเภทของหลักทรัพย์ตามอายุคงเหลือ อันดับความน่าเชื่อถือ สกุลเงินของตราสารหนี้ที่ต้องการลงทุน หรือกำหนดลักษณะเฉพาะอื่นๆตามความต้องการ และอาจกำหนดเป้าหมายของการลงทุนได้ตามความเหมาะสมอีกด้วย นอกจากนี้รูปแบบการรายงานเป็นไปทั้งในรูปของกราฟและรูปแบบอื่นๆ ตามความต้องการได้
ในส่วนสุดท้าย ศ.ดร.อัญญา ขันธวิทย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอกลยุทธ์การระดมทุนผ่านตราสารที่เรียกว่า Structured note ซึ่งเป็นตราสารที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ออกตราสารได้อย่างดี ตราสารประเภทนี้จะถูกออกแบบให้มีความหลากหลายและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆของผู้ออกตราสารได้ ซึ่งส่งผลต่อให้ผู้ออกตราสารได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันผู้ลงทุนจะมีตัวเลือกสำหรับการลงทุนเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของการลงทุนมากขึ้น โดยอาจารย์อัญญายังได้ยกตัวอย่างเครื่องมือการลงทุนที่เป็นที่คุ้นเคยในตลาดปัจจุบันว่ามีหลายชนิดที่มีลักษณะของ Structured product อยู่แล้ว เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ เป็นต้น
และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น สำหรับต้นทุนที่แท้จริงของการออกตราสารประเภทนี้ อาจารย์อัญญาได้นำเสนอวิธีการคำนวณต้นทุนดังกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ควรจะต้องประเมินผลลัพธ์ที่ได้ทั้งหมดจากการออกตราสารนี้ โดยต้องคำนวณจากด้านต้นทุนที่แท้จริงและผลประโยชน์ด้านอื่นๆจากการออกตราสารประเภทนี้ Structured note นี้คาดว่าจะได้รับความนิยมในการออกและการลงทุนในช่วงปี
ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย ชั้น 21 อาคารวานิสสา 29 ซอยชิดลม ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 0-2252-3336 โทรสาร 0-2252-2763
21st Floor Vanissa Building, 29 Soi Chidlom, Ploenchit Rd., Bangkok 10330 Tel.(662) 252-3336 Fax.(662) 252-2763
http://www.thaibdc.or.th-- จบ--
-รอ/ขธ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ