ศอส. รายงานยังมี 26 จังหวัดประสบอุทกภัย - ย้ำ 8 จังหวัดเตรียมรับน้ำล้นตลิ่งที่เพิ่มสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Sunday September 18, 2011 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ศอส. ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 26 จังหวัด พร้อมเตือน 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รับมือภาวะน้ำล้นตลิ่งที่เพิ่มสูงขึ้น สั่งการให้จังหวัดเร่งเสริมกระสอบทราย ทำคันดินกั้นน้ำให้สูงขึ้น และอุดรอยรั่วเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำ และจัดเจ้าหน้าที่ชี้แจง ไกล่เกลี่ย และทำความเข้าใจแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ เพื่อลดความขัดแย้งและเหตุทะเลาะวิวาท นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 26 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ยโสธร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา นครนายก ตาก สระแก้ว และปราจีนบุรี รวม 165 อำเภอ 1,095 ตำบล 6,915 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 408,783 ครัวเรือน 1,412,357 คน ผู้เสียชีวิต 112 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตร 4,043,993 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 67,618 ไร่ กุ้ง/ปู/หอย 2,284 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 3,042,185 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็นทางหลวง 24 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 49 สาย ใน 19 จังหวัด สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งอยู่แล้วระดับน้ำท่วมจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ยังคงมีน้ำมากและอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 3,884ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,706 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 88 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำร้อยละ 96 ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำมากเกินความจุร้อยละ 102 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณมากเกินความจุร้อยละ 109ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ ส่วนกรุงเทพมหานครพื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำบริเวณเขตมีนบุรี หนองจอก และเขตลาดกระบัง ยังมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นายฉัตรป้อง กล่าวต่อว่า จากภาวะฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากน้ำหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอปัว และอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน รวมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำแบบวันต่อวันโดยเฉพาะในวันที่ 19-20 กันยายน 2554 เนื่องจากระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้จังหวัดเร่งเสริมกระสอบทราย ทำคันดินกั้นน้ำให้สูงขึ้น และอุดรอยรั่วเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง สำหรับกรณีที่มีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมขังพยายามพังแนวคันกั้นน้ำเพื่อระบายน้ำออกนอกพื้นที่ ศอส. ได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานให้จัดเจ้าหน้าที่ชี้แจง ไกล่เกลี่ย และทำความเข้าใจแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และอปพร. ในพื้นที่ตระเวนดูแลตามแนวคันกั้นน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญของจังหวัดและจุดที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่เข้าใจ เพื่อลดความขัดแย้งและเหตุทะเลาะวิวาท รวมทั้งให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบ เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลและเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ