มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเพื่อเสริมรายได้ของผู้มีรายได้น้อย

ข่าวทั่วไป Tuesday December 3, 2002 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กรมสรรพากร
วันนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษี ในการเสริมรายได้ของผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. มาตรการภาษีเพื่อเสริมรายได้ของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิในช่วงแรกที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 จากเดิมที่ยกเว้นในวงเงิน 50,000 บาทแรก เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาทแรก โดยมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้ที่ได้รับในปี พ.ศ.2546 เป็นต้นไป
มาตรการนี้จะช่วยลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง รวมทั้งจะช่วยทำให้รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม กรณีคนโสดมีเงินเดือนค่าจ้างเดือนละไม่เกิน 11,111 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 14,167 บาท หรือกรณีคู่สมรส มีเงินเดือนค่าจ้างเดือนละไม่เกิน 14,167 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 16,667 บาท ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด
2. มาตรการสนับสนุนการขายที่อยู่อาศัยเดิมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกเก็บจากการขายที่อยู่อาศัยเดิมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินมูลค่าที่อยู่อาศัยใหม่ที่ซื้อ โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำคัญ ดังนี้
(1) ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันที่ขาย
(2) ต้องซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ก่อนหรือหลังการขายที่อยู่อาศัยเดิมภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ สำหรับเงินได้จากการขายที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นไป
3. การขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในทางภาษีสำหรับมาตรการที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2545 ต่อไปอีก 1 ปี ประกอบด้วย
(1) มาตรการภาษีกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(2) มาตรการภาษีกรณีปรับปรุงโครงสร้างองค์กร
(3) มาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะที่เรียกเก็บจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 3.3 ลงเหลือ ร้อยละ 0.11 เพื่อสนับสนุนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
การขยายเวลาตามมาตรการนี้ จะเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร รวมทั้งเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่ขยายให้แล้ว ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะมีการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
4. นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ให้ถูกต้อง ในส่วนของภาคราชการ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำชับให้ส่วนราชการ องค์กรของรัฐ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ หักและนำส่งภาษีตามกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วน โดยกรมสรรพากรได้จัดทำโปรแกรมการหักภาษีเงินได้ประเภทเงินเดือนค่าจ้างไว้ให้หน่วยงานดังกล่าวนำไปใช้โดย Download โปรแกรมทางเว็บไซต์ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร หรือขอรับแผ่นซีดีโปรแกรมจากกรมสรรพากรโดยตรง
สำหรับในส่วนของภาคเอกชน กรมสรรพากรจะได้นำโปรแกรมดังกล่าวไว้บริการทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 นี้เป็นต้นไป
กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันนี้ จะมีส่วนช่วยลดภาระให้กับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง สำหรับในส่วนรายได้ภาษีอากรที่ถูกกระทบ ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเสริมรายได้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท และการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อสนับสนุนการขายที่อยู่อาศัยเดิมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่อีกเล็กน้อย ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จะมีผลต่อรายได้ในปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป สำหรับผลกระทบจากมาตรการขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ต่อไปอีก 1 ปีนั้นในส่วนของภาษีสรรพากร จะกระทบรายได้ประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท ในส่วนของค่าธรรมเนียมกรมที่ดิน ประมาณปีละ 4,700 ล้านบาท จำนวนดังกล่าวนี้ไม่ได้นับรวมอยู่ในงบประมาณรายได้ปี 2546 อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าผลของมาตรการจะนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น การมีรายได้ของประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีจากแหล่งต่างๆมาชดเชยได้ต่อไป--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ