กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สนพ.
โดย
โครงการประชาสัมพันธ์การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
ตอนที่ 15
การตรวจสอบ ดูแล
อีกบทบาทหนึ่ง ของหน่วยงานสนับสนุน
เมื่อเอ่ยถึง หน่วยงานที่มีบทบาทในการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน หลายคน คงนึกถึงหรือได้ยินแต่ชื่อของหน่วยงานหลัก ๆ ที่มีข่าวลงทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมธุรกิจพลังงาน (กรมทะเบียนการค้า)
แต่ท่านทราบมั้ยครับว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น โดยทำหน้าที่เปรียบเสมือน "ผู้ปิดทองหลังพระ" ในการที่จะช่วยให้การป้องกันและปราบปรามประสบความสำเร็จ โดยเกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การร่วมตรวจสอบ การให้ข้อมูล การแสดงความเห็นในแง่ตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจับกุม ดำเนินคดี ซึ่งถ้าขาดความร่วมมือจากหน่วยงานเหล่านี้ การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนก็จะไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้
การตรวจสอบ ดูแลเรือ ............
กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หรือ กรมเจ้าท่า (เดิม) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เริ่มเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่สมัยแรก ๆ ของการตั้งทีมงานปราบปรามน้ำมันเถื่อนที่มีกรมศุลกากรเป็นแกนนำ
บทบาทหน้าที่หลัก ก็คือ การติดตาม ตรวจสอบการดัดแปลงเรือประมงอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด ซึ่งผลจากการตรวจสอบหลายครั้งพบว่า มีเรือประมงจำนวนมากได้ดัดแปลงช่องเก็บปลา มาเป็นช่องใส่น้ำมัน ดังนั้น แทนที่เรือเหล่านี้จะออกไปหาปลาก็กลับไปรับน้ำมันกลางทะเล แล้ววกกลับเข้ามาในเขตน่านน้ำไทย นำ น้ำมันมาขายให้เรือประมงขนาดเล็ก แพปลา และสถานีบริการริมฝั่ง ยิ่งในช่วงไหนน้ำมันมีราคาสูง พฤติกรรม ดังกล่าวก็จะมีมากเป็นเงาตามตัว
การกระทำดังกล่าว เมื่อหน่วยงานปราบปรามทางทะเล คือ ตำรวจน้ำหรือกรมศุลกากรจับกุมได้ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หรือ กรมเจ้าท่า (เดิม) จะร่วมกับกรมประมงทำการตรวจสอบและแสดงความเห็นว่าเรือดังกล่าวมีการดัดแปลงเพื่อบรรทุกน้ำมันจนไม่สามารถนำไปจับปลาได้แล้วหรือไม่
ถ้าหากเรือที่จับกุมได้เป็นเรือเช่า...ต้องตรวจสอบว่า การดัดแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการให้เช่า เพื่อที่จะได้สืบสวนนำจับไปถึงเจ้าของเรือที่มีส่วนรู้เห็นกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน
ถ้าผู้ต้องหาสู้คดีว่า ถังที่ต่อเพิ่มเติมมีไว้ใช้กับเครื่องยนต์เรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หรือ กรมเจ้าท่า (เดิม) ก็ต้องพิจารณาว่า ขนาดของถังน้ำมันเปรียบเทียบกับเรือขนาดเดียวกัน มีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่ และมีการขออนุญาตต่อเติมถูกต้องหรือไม่
หากผลการตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดจริง กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หรือ กรมเจ้าท่า (เดิม) จะต้องให้ความร่วมมือกับกรมศุลกากรดำเนินการริบเรือหรือเพิกถอนทะเบียนเรือดังกล่าว เพื่อมิให้มีการนำไปใช้ขนน้ำมันเถื่อนอีก
นอกจากนั้น เพื่อให้การตรวจสอบควบคุมเรือบรรทุกน้ำมัน สามารถครอบคลุมทั้งในเขตน่านน้ำไทย และเขตต่อเนื่อง ซึ่งมีระยะทางห่างออกไปจากเขตน่านน้ำไทยอีก 12 ไมล์ทะเล หรือจากชายฝั่ง ซึ่งวัดจากเส้นฐานออกไป 24 ไมล์ทะเล พรบ.เดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2540 จึงได้กำหนดให้เรือบรรทุกน้ำมันลำใด เมื่อเข้ามาในเขตน่านน้ำไทยจะต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง และให้ชักธงเรือนั้นให้ปรากฎ ในขณะเดียวกันในช่วงพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้นก็จะต้องติดตั้งและเปิดใช้โคมไฟไว้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อให้ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หรือ กรมเจ้าท่า (เดิม) ได้ทราบตำแหน่งของเรือ หากมีเบาะแสข้อมูลว่าเรือลำใดมีพฤติกรรมน่าสงสัยจะได้มีการประสานให้หน่วยงานปราบปรามเข้าไปตรวจสอบได้ทันท่วงที
และอีกหน่วยงานที่ต้องกล่าวถึงก็คือ กรมประมง ซึ่งทำหน้าที่ออกใบอนุญาตในการประกอบอาชีพประมงที่เรียกว่า "ใบอาชญาบัตรเครื่องมือประมง" ซึ่งจำนวนใบอาชญาบัตรที่กรมประมงออกไปจะทำให้ทราบถึงจำนวนเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย ใบอาชญาบัตรนี้ เป็นเอกสารสำคัญที่เรือประมงที่ต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิก "โครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง" ต้องใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสมัครเป็นสมาชิกการตรวจสอบดูแลคลังน้ำมัน
ในอดีตการลักลอบนำเข้าน้ำมันทางทะเล มิใช่มีเพียงเรือประมงดัดแปลงหรือเรือซอยขนาด 50,000-100,000 ลิตรเท่านั้น แต่ยังมีการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนคราวละมาก ๆ เข้ามาเก็บที่คลังชายฝั่งทะเล และ คลังริมแม่น้ำสายใหญ่ ๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง
ดังนั้น รัฐจึงได้ออกมาตรการสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยการติดตั้งมิเตอร์ตามคลังน้ำมันชายฝั่งทั่วประเทศ เพื่อเช็คปริมาณเข้า-ออกน้ำมัน แทนการใช้คนรายงาน เพื่อป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่
กองควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ กรมโยธาธิการ ซึ่งปัจจุบันย้ายไปสำนักความปลอดภัยธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง สังกัดอยู่กรมธุรกิจพลังงาน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามข้อมูลการสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง หากมีคลังใดสร้างเสร็จเพิ่มขึ้น กรมธุรกิจพลังงานจะต้องแจ้งให้กรมสรรพสามิตทราบเพื่อไปดำเนินการติดตั้งมิเตอร์
นอกจากนั้น ยังต้องดูว่า คลังน้ำมันต่าง ๆ มีการเก็บน้ำมันประเภทต่าง ๆ ไว้ตรงกับที่แจ้งการ ขออนุญาตตั้งคลังน้ำมันหรือไม่ มีการขอต่อใบอนุญาตทุกปีหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบเลี่ยงนำคลังน้ำมันที่อ้างว่าเลิกใช้แล้วไปใช้ในการเก็บรักษาน้ำมันเถื่อน เพื่อรอการจำหน่ายในประเทศ
ความร่วมมือของหน่วยงานสนับสนุนดังกล่าว คงเป็นส่วนช่วยให้การปฏิบัติงานของฝ่ายปราบปรามประสบผลสัมฤทธิ์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่หากพวกเราประชาชนคนไทยทุกคนให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เราเชื่อว่า "ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน" จะหมดสิ้นไปในที่สุด
พบเบาะแสน้ำมันเถื่อน ติดต่อ ตู้ปณ. 345 ปณจ. พระโขนง กรุงเทพฯ
โทร.0-2662-3288 www.nepo.go.th/petrol-- จบ--
-ศน-