เศรษฐกิจส่งผลสิ่งพิมพ์ไทย 5 เดือนแรกหนังสือออกใหม่ลด 30% ดั๊บเบิ้ล เอ ระดมสมองผู้เกี่ยวข้องกระตุ้นตลาด

ข่าวทั่วไป Friday July 8, 2005 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ
ภาวะเศรษฐกิจกระทบตลาดสิ่งพิมพ์ไทย อมรินทร์พริ้นท์ติ้งเผย 5 เดือนแรกสถิติพ็อคเก็ตบุ๊คออกใหม่หดตัวจากปีก่อน 30% กระทบ สนพ.รายเล็กแน่นอน แต่ส่งออกกลับมีโอกาสจากเงินบาทอ่อน ศิริวัฒนาแนะ 4 มาตรการรัฐหนุนอุตฯ สิ่งพิมพ์ไทย เตรียมระดมความเห็นทั้งภาครัฐและเอกชนหาแนวทางกระตุ้นตลาดในงานสัมมนา “จับตาเศรษฐกิจผนึกพลังกระตุ้นตลาดสิ่งพิมพ์ไทย” ที่ดั๊บเบิ้ล เอ เป็นโต้โผจัดขึ้น 9 ก.ค. นี้
นางสาวระริน อุทกะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ภาพรวมของตลาดสิ่งพิมพ์ถือว่าเติบโตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยจากสถิติหน้าร้านหนังสือนายอินทร์ตั้งแต่เดือนมกราคม — พฤษภาคมในปี 2548 พบว่าในภาพรวมมีหนังสือเล่มหรือพ็อคเก็ตบุ๊คในตลาดรวมของไทยที่ออกใหม่ลดลง เหลือประมาณ 600 — 700 เรื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีถึง 1,000 เรื่อง ซึ่งลดลงประมาณ 30% อย่างไรก็ตามยอดขายกลับเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% เมื่อเทียบกับยอดจำหน่าย ควบคู่ไปกับมีการส่งเสริมการอ่านของคนไทยมากขึ้น แม้ว่าภาวะธุรกิจสิ่งพิมพ์จะชะลอตัว
โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจนิตยสาร และพ็อคเก็ตบุ๊คในขณะนี้ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยทางด้านราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบกับสำนักพิมพ์รายเล็กมากกว่ารายใหญ่ โดยแต่ละรายมีความระมัดระวังในการออกหนังสือมากขึ้น แต่บริษัทรายใหญ่ที่หันมาขยายงานด้านนิตยสารนั้นยังคงมีเป้าหมายที่จะออกนิตยสารหัวใหม่ๆ อยู่ โดยเฉพาะการซื้อหัวหนังสือจากต่างประเทศเข้ามา
แต่สำหรับการส่งออกสิ่งพิมพ์ไทยนับว่าเป็นโอกาสดีและเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ผลิตหรือสำนักพิมพ์ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนตัวลงทำให้ต่างประเทศสนใจที่จะซื้อผลงานของไทยมากขึ้น นอกจากนี้สำหรับในประเทศไทยเองก็ควรจะมีการกระตุ้นทั้งการอ่าน การเขียน เพราะปัจจุบันนี้งานเขียนของไทยที่มีคุณภาพในเชิงวรรณกรรมจะค่อนข้างลดน้อยลง ในขณะที่งานแปลผลงานจากต่างประเทศมีจำนวนมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์เติบโตได้คือกิจกรรมส่งเสริมการตลาด รวมถึงงานวิจัยเชิงลึกที่ดีก็จะมีส่วนกระตุ้นธุรกิจสิ่งพิมพ์เติบโตได้ โดยเฉพาะจะมีผลต่อการจัดสรรเรื่องโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะสำหรับนิตยสารแล้วโฆษณาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ในงานสัมมนาที่จัดโดยดั๊บเบิ้ล เอ ครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้คนในวงการมาช่วยกันหาแนวทางในการกระตุ้นตลาดสิ่งพิมพ์กันได้อย่างหลากหลายความคิด และเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทางด้าน นายพรเทพ สามัตถิยดีกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์ พรินท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงพิมพ์ของศิริวัฒนานั้นไม่ค่อยได้รับผลกระทบเนื่องจากเน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก แต่ภาพรวมโรงพิมพ์ในประเทศค่อนข้างจะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรจะสนับสนุนและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยในประเทศ โดยจัดทำเป็นแคมเปญใหญ่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี ควรเริ่มกันตั้งแต่การอ่าน เพราะหากคนไทยรักการอ่านหนังสือมากกว่านี้ ก็จะช่วยให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในประเทศเติบโตได้ ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธี อาทิ การพิมพ์คู่มือกฎหมาย คู่มือประชาชน คู่มือรักษาสุขภาพ สำหรับแจกทุกบ้าน ทุกครอบครัว เป็นต้น
และในส่วนของภาครัฐอาจจะสามารถช่วยได้ในเรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสำหรับโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ เหมือนดังเช่นสิงคโปร์หรือจีนที่รัฐบาลช่วยเหลือด้านดอกเบี้ย กระตุ้นให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศสนใจ หรือเอ็กซิมแบงก์ (Exim Bank) สามารถมารับซื้อใบเพอร์เชส ออเดอร์ (PO) ของลูกค้าต่างประเทศเพื่อค้ำประกันหนี้สูญ หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ในเรื่องการจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ให้เอื้อต่อกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในเขตนิคมฯ ด้วย เพราะประเทศไทยสามารถเป็นฮับของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในอาเซียนได้แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในงานสัมมนาเรื่อง “จับตาเศรษฐกิจ ผนึกพลังกระตุ้นตลาดสิ่งพิมพ์ไทย” ซึ่งจัดโดย บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2548 เวลา 09.30 น. — 16.00 น. ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม B-C โรงแรมโซฟิเทล ลาดพร้าว จะเป็นงานสัมมนาที่ดึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์หลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ วงการโฆษณา วงการศึกษา มาร่วมกันหาแนวทางในการกระตุ้นและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยเติบโต และขยายตลาดใหม่ๆ ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด และสำรองที่นั่งฟรี ได้ทางโทรศัพท์ 02 — 659 -1188
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัท คิธ แอนด์ คินฯ จำกัด
คุณจรรยา นุกูลกิจ โทร. 02 — 663 -3226 ต่อ 65--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ