มะเร็งวิทยาสมาคมฯ จัดเสวนา “อาหารนั้นสำคัญไฉนในผู้ป่วยมะเร็ง” แนะโภชนาการที่ถูกหลัก เพื่อใช้ชีวิตที่มีสุขได้ แม้เมื่ออยู่ใกล้มะเร็ง

ข่าวทั่วไป Monday September 19, 2011 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--Public Hit “มะเร็ง” เพชฌฆาตร้ายอันดับหนึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกจนใครๆ ก็ขยาดกลัว แต่คนเป็นโรคมะเร็ง ไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ทุกคน เพราะยังนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ยังมีมะเร็งหลายชนิดที่รักษาหายขาดได้ และมีผู้ป่วยหลายรายที่รอดชีวิตจากเงื้อมมือเพชฌฆาต หรืออย่างน้อยผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติแม้ จะมีเชื้อร้ายอยู่ภายในตัวก็ตาม หากผู้ป่วยผู้นั้นได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์อย่างถูกแบบแผน และดำเนินวิถีชีวิตอย่างถูกหลักโดยเฉพาะในด้านภาวะโภชนาการ แต่ทว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยอีกมากมายที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการดูแลรักษาตัวเองในเรื่องอาหารและหลักในการรับประทาน ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องการดูแลด้านโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทางมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย องค์กรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “อาหารนั้นสำคัญไฉนในผู้ป่วยมะเร็ง” โดยมี น.พ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ อุปนายกฯ และพ.ญ. สิรกานต์ เตชะวณิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โภชนาการ เข้าร่วมให้ความรู้ โดยการเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการเผยแพร่ความรู้ความตระหนักแก่ประชาชนเรื่องโรคมะเร็งและการดูแลรักษาโรคมะเร็งอย่างเหมาะสม” ที่ทางมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับรักษาและการดูแลตนเองที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว ณ ห้องมณฑาทิพย์ 4 โรงแรม โฟร์ ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน น.พ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ เผยว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยชนิดของมะเร็งที่คร่าชีวิตชายไทยมากที่สุดคือ มะเร็งตับ และท่อน้ำดี รองลงมาคือมะเร็งปอด ส่วนเพศหญิงคือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก สาเหตุของการเกิดมะเร็งมีหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพแวดล้อมภายนอกและพันธุกรรม แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษาด้วยวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการรักษาโรคมะเร็งอย่างผสมผสานกัน ทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อัตราการรอดชีวิตและหายขาดจากโรคนี้ก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ? “วิธีการรักษาโรคมะเร็ง มี 3 วิธีคือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้คีโม หรือเคมีบำบัด บางคนรักษาเพียงวิธีเดียว แต่บางคนอาจต้องใช้การรักษาทั้ง 3 วิธี แล้วแต่ชนิดของมะเร็งและระยะเวลาของโรค ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้วินิจฉัย โรคมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะถ้าเราเจอในระยะเริ่มต้น อย่างเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่เป็นในระยะที่ 1-3 สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 80% โดยสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งคือ การรับประทานอาหาร เพราะในการรักษาแต่ละวิธีจะทำให้ร่างกายเกิดผลข้างเคียง ถ้าร่างกายขาดสารอาหารหรือมีโภชนาการที่ไม่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้า และทำให้ประสิทธิภาพ ในการรักษาลดลง” การบริโภคอาหารที่ถูกต้องไม่ใช่วิธีการรักษาแต่เป็นส่วนเสริม ซึ่งอาจแยกคนไข้ออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่เป็นโรคมะเร็งและรับการรักษาอยู่ ทั้งการผ่าตัด ฉายแสง หรือการให้ยาเคมีบำบัด จึงจำเป็นต้องมีโภชนาการที่สมบูรณ์ มิฉะนั้นจะได้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร แต่หลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว จะเป็นช่วงฟื้นฟูด้วยภาวะโภชนาการเพื่อไม่ให้โรคมะเร็งกลับมาอีก และร่างกายไม่เสื่อมโทรม “ผมมีคนไข้โรคมะเร็งหลายคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะทนการรักษาไม่ดีและติดเชื้อได้ง่าย ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะรักษาไม่ได้ประสิทธิผล ในขณะที่คนไข้อีกหลายคนรับประทานอาหารเต็มที่จนร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ทำให้รักษาได้ผลดี จึงขอยืนยันว่าการรักษาทางการแพทย์ทั้ง 3 วิธีเป็นการรักษาหลัก ส่วนอาหารเป็นส่วนเสริม และต้องได้รับอาหารให้ครบถ้วน การให้กำลังใจผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญ ครอบครัวและเพื่อนๆ จำเป็นจะต้องช่วยกันประคับประคองให้ผู้ป่วยผ่านพ้นการรักษา และนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีจนหายขาดครับ” น.พ.วิโรจน์ สรุป ด้วยเหตุนี้เรื่องของภาวะโภชนาการที่เหมาะสมย่อมส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีประสิทธิผลดีอย่างชัดเจน โดย พ.ญ.สิรกานต์ เตชะวณิช เผยว่า การรักษาโรคมะเร็งจะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีโภชนาการที่ดี ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้ดี ย่อมสามารถต่อสู้กับอาการข้างเคียงจากการรักษา และช่วยให้รับมือกับปริมาณยาบางตัวในระดับสูงๆ ได้ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด เคมีบำบัด หรือฉายรังสีมา ร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนในการรักษาเนื้อเยื่อในร่างกายและต่อสู้กับการติดเชื้ออักเสบ ดังนั้นหากขาดโปรตีน ร่างกายจะใช้เวลานานมากกว่าเพื่อจะฟื้นตัวจากโรคภัยไข้เจ็บ “สำหรับอาหารที่ให้โปรตีนนั้นได้มาจากพืชและสัตว์ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเปลือกแข็ง (nuts) ถั่วฝักแห้ง (dried beans) ถั่วฝักเมล็ดกลมหรือพี (peas) ถั่วเมล็ดแบน (lentils) เลนทิลส์ และอาหารจากเต้าหู้ ต้องเน้นว่าถ้าให้อาหารโปรตีนสูง คนไข้ต้องได้รับพลังงานทั้งวันที่เพียงพอก่อน โปรตีนถึงจะนำไปเสริมสร้างเซลล์ส่วนที่สึกหรอซึ่งอาจเป็นผลของการรักษาได้ ส่วนที่มีผู้เข้าใจว่าโปรตีนที่มาจากสัตว์ ไม่ดีนั้น หมอขอแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้ เพราะโปรตีนจากสัตว์มีคุณภาพดี ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น ส่วนโปรตีนจากพืชมีแง่ดี คือ ไม่มีไขมันอิ่มตัว ผู้ป่วยจึงควรกินโปรตีนให้ครบถ้วนทั้ง 2 อย่างในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สารอาหารที่สมบูรณ์ “ส่วนคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งให้พลังงานหลักสำหรับร่างกาย แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ดีที่สุดคือ ผลไม้ ผัก และโฮลเกรนหรือธัญญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งให้วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย ไฟเบอร์ และ ไฟโตทูเทรียนทส์ สำหรับเซลล์ของร่างกายด้วย นอกจากนี้ไขมันก็มีบทบาทที่สำคัญ ไขมันและน้ำมันผลิตจากกรดไขมันและเป็นแหล่งที่ให้พลังงานต่อร่างกายอย่างเข้มข้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจและระดับ คอเรสเตอรอลสูง ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วพีนัท น้ำมันดอกทานตะวัน สุดท้ายคือ ดื่มน้ำให้เพียงพอด้วย” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โภชนาการ เสริมว่า นอกจากผู้ป่วยโรคมะเร็งควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารไม่สด ไม่สะอาด โดยเฉพาะช่วงที่คนไข้มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งอาจเป็นจากตัวโรคเอง หรือเป็นจุดแทรกซ้อนจากการรักษา และขอเพิ่มเติมในส่วนของผักและผลไม้ที่แนะนำให้ทานเป็นปริมาณเยอะอยู่แล้ว ในคนไข้ที่เม็ดเลือดขาวต่ำต้องระวังเรื่องภูมิคุ้มกันเป็นพิเศษ ควรเลือกทานผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้วและล้างให้สะอาด ส่วนอาหารอื่นที่ควรหลีกเลี่ยงคือ พวกอาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น อาหารหมักดอง เป็นต้น “สำหรับวิตามินและเกลือแร่นั้นเป็นสารอาหารสำคัญที่จะช่วยให้ร่างการเจริญเติบโตและแข็งแรง ได้แก่ วิตามิน A C และ E ธาตุเหล็ก แคลเซี่ยม และโซเดียม นอกจากนี้ควรจำกัดอาหารประเภทไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ เลือกรับประทานนมพร่องมันเนย และผลิตภัณฑ์จากนม ลดปริมาณของไขมันใน แต่ละมื้ออาหารโดยเลือกการปรุงอาหารที่ใช้ไขมันต่ำ เช่น วิธีอบหรือต้ม และจำกัดการบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักเกลือ รมควัน หรือดอง และงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ พยายามรักษาน้ำหนัก ให้เหมาะสม” พ.ญ. สิรกานต์ ยังได้เพิ่มเติมถึงอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ป่วยด้วย อาทิ ขนมปัง ซีเรียลแบบร้อนหรือเย็น คุ้กกี้ ผลไม้ทั้งแบบสด แบบแห้ง ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ นม มัฟฟินส์ ถั่ว ข้าวโพดป๊อปคอร์น เพร็ทเซล พุดดิ้ง คัสตาด แซนด์วิช เชอร์เบท ซุป เครื่องดื่มเพิ่มพลังงาน ผักแบบสด แบบปรุงสุกหรือน้ำผัก และโยเกิร์ต หรืออาจลองเลือกรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนและพลังงานสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ไข่ เนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาปรุงสุก เป็นต้น ภายในงานเสวนา “อาหารนั้นสำคัญไฉนในผู้ป่วยมะเร็ง” นอกจากจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสีสันที่น่าสนใจคือ เมนูอร่อยๆ ซึ่งเป็นโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยนักแสดงหนุ่ม ชาคริต แย้มนาม สวมมาดเชฟจากรายการ “ครัวแล้วแต่คริต” มาโชว์ฝีมือทำ “ซุปมักกะโรนีไก่ฉีก” ที่ทั้งอร่อยและมีสารอาหารครบถ้วนให้ชมและชิมกันในงานด้วย “ซุปมักกะโรนีไก่ฉีก” มีส่วนผสมได้แก่ มักกะโรนีต้มสุกที่ใช้เวลาต้มประมาณ 7 นาที แครอทหั่นเป็นลูกเต๋า ถั่วลันเตาแกะเม็ด เห็ดฟาง ซีอิ๊วขาว พริกไทย กระเทียม รากผักชี ประมาณ ? หรือ ครึ่งช้อนชา โขลกรวมกันให้ละเอียด ต้มไก่สุกพอดีๆ แยกไว้ต่างหาก จากนั้นเชฟหนุ่มก็ลงมือปรุงพร้อมอธิบายอย่างคล่องแคล่ว “วิธีทำเริ่มจากใส่น้ำเปล่าในหม้อต้มให้เดือด นำพริกไทย กระเทียม รากผักชี ประมาณ ? หรือ ครึ่งช้อนชา โขลกรวมกันให้ละเอียด ใส่ลงในหม้อ หากชอบรสจัดเพิ่มเติมได้ตามใจชอบ เติมซุปไก่ปรุงรส ตามด้วยมักกะโรนีต้มสุกที่ใช้เวลาต้มประมาณ 7 นาที ใส่แครอทครึ่งขีดหรือ 1 ขีด ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา หลังจากนั้นประมาณ 2 นาที ค่อยใส่ถั่วลันเตา ทิ้งไว้ 2 นาที จึงใส่เห็ดฟาง ฉีกไก่สุกลงไป หากชอบเค็มเติมเกลือหรือซีอิ๊วขาวเพิ่มได้ หรือถ้าไม่ชอบผักทั้งสามชนิดนี้ จะใส่หอมแดง หอมใหญ่ หรือมันฝรั่ง แทนก็ได้ เพิ่มความหอมด้วยการโรยผักชี คื่นช่าย เป็นอันเสร็จเรียบร้อยพร้อมเสิร์ฟได้ทันทีครับ” หนุ่มคริต กล่าว สำหรับเมนูเด็ดนี้ คุณหมอสิรกานต์ กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งเมนูที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะมักกะโรนี เป็นอาหารจำพวกแป้ง ที่ทานสลับกับข้าว หรือขนมปังได้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายหากรู้สึกเบื่ออาหาร ส่วนผสมที่มีพริกไทย กระเทียม รากผักชี ทำให้อาหารมีรสชาติมากขึ้น และซุปปรุงรสควรเลือกแบบผงแทนแบบก้อนเพราะมีไขมันน้อยกว่า ผักหลายสีมีวิตามิน เกลือแร่ แตกต่างกันในองค์ประกอบ อย่างแครอท ให้วิตามินเอ ถั่วลันเตา ให้โปรตีนและไฟเบอร์ ดีกับระบบลำไส้ “เมนูนี้มีโปรตีนอยู่หลายส่วน คือ ไก่ ที่เป็นโปรตีนจากสัตว์ ควรเลือกส่วนที่ไม่ติดมัน แล้วยังมีโปรตีนจากถั่ว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณใบหน้าหรือลำคอ อาจมีผลต่อการผลิตน้ำลายได้ ทำให้ปากแห้งคอแห้ง การทานอาหารที่มีน้ำซุปจะช่วยได้ เมื่อกินมื้อนี้เสร็จอาจตบท้ายด้วยผลไม้ ก็จะครบ 5 หมู่ ขอย้ำอีกครั้งว่า ถ้าเป็นช่วงที่ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำต้องระวังให้มาก ล้างผลไม้ให้สะอาดจริงๆ ถ้าชนิดไหนมีเปลือกก็ปอกทิ้งไป” คุณหมอคนเก่ง กล่าวทิ้งท้าย โครงการ “โครงการเผยแพร่ความรู้ความตระหนักแก่ประชาชนเรื่องโรคมะเร็งและการดูแลรักษาโรคมะเร็งอย่างเหมาะสม” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง (Global Health Partnership — Thailand Cancer Control) ที่มูลนิธิไฟเซอร์-นิวยอร์ค และ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ร่วมกับ American Cancer Society (ACS) จัดทำขึ้น โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้แก่องค์กรอิสระไม่หวังผลกำไรที่ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็ง ก็สามารเข้าไปหาดูได้ที่เว็บไซต์ของทางสมาคมที่ www.tsco.or.th ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 2525699 Public Hit

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ