กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 12-16 ก.ย. 54 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 106.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบเบรนต์ (Brent) ลดลง 1.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 112.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เพิ่มขึ้น 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 88.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ย น้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 124.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดีเซลลดลง 2.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ปัจจัยเชิงลบ
- Arabian Gulf Oil Co. (Agoco) ของลิเบียเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Sari (กำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ปัจจุบันผลิตที่ 150,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่าจะผลิตเต็มกำลังภายในสิ้นเดือน ก.ย. 54 และ ส่งออกจากท่าเรือ Tobruk ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อเที่ยวเรือ ในทุก 10 วัน
- Oil Movements รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบทางเรือของ OPEC-10 (ไม่รวมแองโกลาและเอกวาดอร์) ในช่วง 4 สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 1 ต.ค. 54 เพิ่มขึ้น 60,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนอยู่ที่ 22.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- OPEC ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 54 ลดลงจากเดิม 15,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 87.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเศรษฐกิจโลกเติบโตลดลง มาอยู่ที่ 3.6%
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 54 ลงจากเดิม 160,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 55 ลดลงจากเดิม 190,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
- ผู้ค้าคาดการณ์อัตราการกลั่นของโรงกลั่นยุโรป ในเดือน ก.ย. 54 อาจลดลงอยู่ที่ระดับ 78% (เดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ 83%) เนื่องจากผลตอบแทนจากการกลั่นอยู่ในระดับต่ำ
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ย. 54 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 11,000 ราย อยู่ที่ 428,000 ราย สูงสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 54
- 15 ก.ย. 54 Moody's ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารอันดับ 2 และ 3 ของฝรั่งเศส ได้แก่ Credit Agricole จาก Aa1 เป็น Aa2 และ Societe Generale จาก Aa2 เป็น Aa3 ตามลำดับ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของกรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์
ปัจจัยเชิงบวก
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ย. 54 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 6.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 346.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Gasoline เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 210.8 ล้านบาร์เรล และ Distillates เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 158.5 ล้านบาร์เรล
- IEA เสร็จสิ้นการระบายน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ปริมาณ 60 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ประกาศตั้งแต่เดือน มิ.ย. 54
- อุปทานน้ำมันดิบจากแหล่งทะเลเหนือตึงตัว โดยการส่งมอบน้ำมันดิบ Forties ในเดือนก.ย. 54 จำนวนทั้งหมด 24 เที่ยวเรือ ต้องเลื่อน 19 เที่ยว เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค และแหล่ง Buzzard ของอังกฤษยังไม่สามารถกลับมาผลิตในระดับปกติที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากปิดซ่อมบำรุง (ปัจจุบันผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน)
- Syncrude Canada Ltd. ของแคนาดาหยุดผลิต Synthetic Crude ปริมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 30% เนื่องจากปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตเป็นเวลา 40-45 วัน
- กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลจีน (Sovereign Wealth Fund) อาจเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี
- ธนาคารกลางยุโรป รวมทั้งธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ แถลงมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยุโรป โดยปล่อยกู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปีนี้
- นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีและประธานาธิบดีของฝรั่งเศสออกมายืนยันให้การสนับสนุนประเทศกรีซเป็นสมาชิกกลุ่ม Euro Zone ต่อไป
แนวโน้ม: ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและจิตวิทยา อาทิ สมาชิก OPEC ยังไม่มีท่าทีจะปรับลดระดับการผลิตน้ำมันดิบหลังลิเบียกลับมาส่งออก โดยผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เผยปริมาณการผลิตจากรัฐ Abu Dhabi อยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรล ต่อวัน และคาดว่าจะทรงตัวจนสิ้นปี 54 และ ทางการซาอุดีอาระเบียเผยปริมาณผลิตน้ำมันในเดือน ส.ค. 54 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 16,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 9.765 ล้านบาร์เรล ต่อวัน และไม่มีแผนปรับลดระดับการผลิต อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบตึงตัว โดยคาดว่าปริมาณการผลิตจากแหล่งทะเลเหนือในเดือน ต.ค. 54 ลดลง 2.9% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากแหล่งผลิตถดถอย และ นักวิเคราะห์คาดว่าไนจีเรีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกจะคงประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ในการส่งมอบน้ำมันดิบ Bonny Light จนถึงปลายเดือน ต.ค. 54 หลังจากท่อขนส่งถูกก่อวินาศกรรม ในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะขยับอยู่ในกรอบ 108-117 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 83-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้ ควรติดตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการประชุมนโยบายของธนาคารกลาง (Federal Reserve: Fed) วันที่ 20-21 ก.ย. 54 ซึ่งขยายระยะเวลาการประชุมจากปกติ 1 วัน เพิ่มเป็น 2 วัน ทำให้มีกระแสคาดการณ์ว่า Fed จะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ รอบที่ 3 (QE3) และ สถิติการสร้างบ้านใหม่ของ (Housing Starts) ที่จะประกาศในวันอังคารนี้ ซึ่งจะบ่งชี้ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการจ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อราคาน้ำมัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทร. 0 2537-1630
โทรสาร 0 2537-2171