กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ก.ไอซีที
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “ยกระดับการพัฒนา TH e-GIF เพื่อก้าวสู่ SMART e-Government Thailand” ว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนากรอบแนวทาง การเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Thailand e-Government Interoperability Framework: TH e-GIF) เพื่อพัฒนาบริการภาครัฐและบูรณาการระบบข้อมูลภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารราชการเพิ่มขึ้น และยกระดับความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการพัฒนากรอบแนวทางในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานตลอดมา จนปัจจุบันได้พัฒนามาถึงเวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งกรอบแนวทางดังกล่าวได้เสนอแนะวิธีการพัฒนาระบบบูรณาการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 10 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเตรียมการเบื้องต้น การกำหนดวิสัยทัศน์ การจัดทำสถาปัตยกรรมในด้านต่างๆ ไปจนถึงการกำกับดูแล และปรับปรุงมาตรฐาน ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีบุคลากรในแต่ละระดับที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไปตามลักษณะการปฏิบัติงาน
“ในการดำเนินงานปีงบประมาณ 2553 ได้มีการสำรวจสถานภาพการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงาน (Road Map) ในการจัดทำมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูลร่วมเฉพาะกลุ่มธุรกรรม (Domain Specific Core Set) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลร่วมกันในแต่ละด้าน เพื่อมุ่งสู่การสร้างมาตรฐานข้อมูลกลางของประเทศ (Universal Core Set) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนั้น รัฐบาลและกระทรวงฯ ยังมีนโยบายที่ต้องการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรทั่วประเทศ ดังนั้น ในการดำเนินงานปีงบประมาณ 2554 กระทรวงฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ รวมไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และร่วมกันพัฒนามาตรฐานข้อมูลและกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หรือ “Agriculture Disaster Relief Information System (Aggie DRIS)” ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าวจะเป็นการ บูรณาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ และบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์การเกษตร ตามวิธีการที่ได้เสนอแนะไว้ในกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” นางจีราวรรณ กล่าว
และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้รับทราบผลการดำเนินงาน และมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงแบบบูรณาการ ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติมากขึ้น รวมทั้งให้สามารถนำเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานตนเองได้ กระทรวงฯ จึงได้จัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้เห็นถึงประโยชน์รวมถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดทำมาตรฐานข้อมูลและกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ จากกรณีศึกษาของระบบมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (Aggie DRIS) ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม
“ในงานสัมมนาดังกล่าว จะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ข้อเสนอด้านกลไกความร่วมมือเพื่อผลักดันการจัดทำมาตรฐาน และพัฒนาระบบเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมของประเทศ” รวมทั้ง “ระบบทะเบียนกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ และบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” ให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนผู้สนใจ จำนวนประมาณ 300 คนได้รับทราบ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะเป็นข้อเสนอสำคัญในการผลักดันความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งเพื่อพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ และส่งเสริมการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในระดับที่ก้าวหน้าขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้าน SMART e-Government Thailand ด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ในการดำเนินงานปี 2554 กระทรวงฯ ยังจะทำการผลักดัน และสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านมาตรฐานการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตลอดจนแก้ไขปัญหา และอุปสรรค พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐที่จะทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลในระดับประเทศต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT