กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ศอส.
ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 25 จังหวัด พร้อมเตือน 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรีรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่งที่เพิ่มสูงขึ้น รวม 11 จังหวัดและภาคใต้ฝั่งตะวันตกระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ให้ระวังน้ำที่ล้นมาจากจังหวัดนครนายก ตลอดจนขอให้จังหวัด ที่มีพื้นที่ประสบภัยเข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในรอบแรก และประสงค์ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเร่งสำรวจข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน 26 กันยายน 2554
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและ การบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 25 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ยโสธร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา นครนายก ตาก และปราจีนบุรี รวม 153 อำเภอ 1,131 ตำบล 7,497หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 470,415 ครัวเรือน 1,567,158 คน ผู้เสียชีวิต 132 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตร 5,110,327 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 60,124 ไร่ กุ้ง/ปู/หอย 933 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 3,954,046 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 27 สาย ใน 9 จังหวัด ทางหลวงชนบท 76 สาย ใน 19 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอกบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอห้วยทับทัน ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อำเภอจังหาร ทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอเมือง มหาชนะชัย จังหวัดยโสธร อำเภอเมือง มัจจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ลุ่มน้ำโขง ที่อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 3,986 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,715 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 88 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 96 ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณมากเกินความจุ ร้อยละ 111 ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ ส่วนกรุงเทพมหานคร พื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำบริเวณเขตมีนบุรี หนองจอก และเขตลาดกระบัง ยังมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า ในช่วงวันที่ 20 - 23 กันยายน 2554 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดตอนกลางของประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง (นครนายก สระแก้ว) ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร มุกดาหาร ขอนแก่น) ภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ตั้งแต่จังหวัดระนองลงไป) โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ให้ระวังน้ำที่ล้นมาจากจังหวัดนครนายก จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่ม และใกล้ทางน้ำไหลผ่านระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ที่สำคัญ ขอให้โรงพยาบาล 16 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำ โดยเฉพาะโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เตรียมเสริม แนวกระสอบทรายให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่โรงพยาบาล พร้อมเตรียมแผนอพยพคนไข้ หากสถานการณ์วิกฤติ ท้ายนี้ ศอส. ขอให้จังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัยเข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในรอบแรก และประสงค์ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเร่งสำรวจข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน 26 กันยายน 2554 เพื่อจัดส่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมและพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมต่อไป