กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สป.
เมื่อวันที่ 17 ก.ย.54 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากแต่ละภาคส่วน ต่อประโยชน์และผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมในเกือบทุกมิติ รวมถึงการน้อมนำแนวทางพระราชดำริ เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
โดยมีนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ, นายสมควร รวิรัช รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ คนที่หนึ่ง, นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ คนที่สอง, คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ, สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และ ผู้เข้าร่วมการสัมมนา จากทุกภาคส่วน กว่า 1,000 คน ร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มีใจความสำคัญดังนี้
การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงต้องระดม “พลังความคิด พลังความร่วมมือและการบูรณาการ จากทุกภาคส่วน” ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจากภาครัฐ หน่วยงานจากภาคเอกชน สถาบันการศึกษา กลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นักวิชาการ และสื่อมวลชน ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเวทีและกลไกหนึ่งของสังคม ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้ประเทศไทยสามารถเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2548 ภายใต้การน้อมนำแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ในปี 2540 ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ ตั้งแต่ระดับบุคคลครอบครัว ชุมชน สังคม ระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศ เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และมีความมั่นคงในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกอย่างรอบด้าน
“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในทางสายกลางที่สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประชาชนทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และระดับประเทศได้ โดยจะต้องมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งในการดำเนินการต่างๆ นั้น จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาประยุกต์ใช้ และให้มีกลไกในการดำเนินการ และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ ที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ จึงจะทำให้การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวทางการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยกล่าวว่า
ในปี 2558 หรืออีกเพียงประมาณ 3 ปี กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่อง จะเข้าสู่ระดับความร่วมมือที่สูงขึ้น คือ การเป็น “ประชาคมอาเซียน” ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ
(1) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(2) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
(3) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ทั้งนี้ การดำเนินการของไทยในส่วนนี้จะเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ โดยในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลัก สำหรับเรื่องประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน มีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีข้อผูกพันซึ่งให้ต้องเปิดเสรีในหลายๆ ด้าน อาทิเช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ และการดำเนินงานตามความร่วมมือรายสาขาอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านเกษตรอาหาร และป่าไม้ ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
รัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิ การดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมความรู้ ความตระหนัก เรื่อง การเปิดเสรีทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน การเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการเปิดเสรีให้เกิดเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกัน มีการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยมีการสร้างเครือข่ายทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ กับผู้ประกอบการ รวมทั้งสถาบันการศึกษา
โดยสรุป การเป็นประชาคมอาเซียน จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีประเด็นว่าจะมีการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อการเป็นประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมองหาโอกาสและประโยชน์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับ สร้างความเข้มแข็ง
แนวทางเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก็คือ การที่เราจะต้อง “รู้- รับ- ปรับตัว”
รู้ หมายถึง ตระหนัก รู้ถึงความเป็นประชาคมอาเซียน รู้ถึงความเป็นไป และสิ่งที่จะเกิดขึ้น
รับ หมายถึง ยอมรับว่า การเป็นประชาคมอาเซียนจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นอยู่ของเรา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปรับตัว หมายถึง การที่เราจะต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความเข้มแข็ง ความสามารถในการแข่งขันแก่ทรัพยากรที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรมนุษย์ ทุน เทคโนโลยี และมองหาโอกาสการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงของภูมิภาค นี้
เราจะต้องพัฒนาภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม จะต้องมีการเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษาที่จะเติบโตมาในยุคของความเป็นประชาคมอาเซียน ปรับปรุงพัฒนาในสิ่งที่ยังมีความอ่อนแอ เพิ่มพูนศักยภาพของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคคลากร โครงสร้างพื้นฐาน การใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนไปยังประเทศที่สาม ที่สำคัญ คือ ต้องมองไปในระยะยาวให้ไกลกว่าปี 2558 เพราะในปี 2558 เป็นเพียงปีแห่งการเริ่มต้น
โดยในตอนท้ายนั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขอให้ทุกท่าน มีความมั่นใจว่า รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้อง จะร่วมดำเนินงานกันในเชิงบูรณาการ อย่างเต็มความสามารถ และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เป็นสำคัญ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคง
และการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประชาคมอาเซียน” โดย ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้
กว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา ประเทศในอาเซียนมีความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ร่วมกัน ทั้งด้านการค้าเสรี (AFTA), การลงทุน แต่ความร่วมมือยังมีความหละหลวมอยู่มาก ต่อมาความสำคัญของอาเซียนในสายตาของยุโรปลดลง ในขณะที่การประชุม APEC เริ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรป อาเซียนจึงกลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง โดยการกำหนดเป้าหมายในการเป็นประชาคมอาเซียน (AC) ภายในปี 2558 มีการพูดถึงสามเสาหลักคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และประชาคมความมั่นคงอาเซียน
สิ่งที่ท้าทายในอาเซียนคือ ประเทศอาเซียนยังขาดความตระหนักของการเป็นประชาคมอาเซียนในหัวใจ ประเทศไทยนั้นเกือบจะเป็นอันดับสุดท้ายในการสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ
ในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ
หลัก 3 ห่วง 1) ต้องมีความพอประมาณ 2) มีความสมเหตุสมผล 3) มีภูมิคุ้มกันตนเอง และใน 2 เงื่อนไข คือ 1) มีความรู้ และ 2) มีคุณธรรม ซึ่งหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนี้จะต้องนำมาบูรณาการร่วมกันในการเป็นประชาคมอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ นักเศรษฐศาสตร์โลกมองเห็นว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถช่วยป้องกันความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศมีเศรษฐกิจดี คนในประเทศก็จะใช้จ่ายมาก มีการลงทุนมาก เมื่อไม่มีความพอประมาณ ไม่มีสมเหตุสมผล และไม่มีภูมิคุ้มกันตนเอง ก็ทำให้เศรษฐกิจเกิดฟองสบู่ เหมือนดังที่เกิดขึ้นในอดีต ในขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจฝืดเคือง ไม่มีการลงทุน ไม่มีการใช้จ่าย ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองหนักยิ่งขึ้น แต่หากใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเศรษฐกิจดีหรือฝืดเคือง หากมีการลงทุนอย่างพอประมาณ มีความสมเหตุสมผลและมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะสามารถทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ โดยที่เศรษฐกิจไม่หยุดชะงัก
“ผมมองว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นภูมิปัญญาตะวันออก เป็นการเดินทางสายกลางอย่างมีสติ และผมถือว่าเป็นเรื่องดีที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและประชาคมอาเซียนมาวิเคราะห์ร่วมกัน และผมอยากจะฝากสภาที่ปรึกษาฯ ที่จะพิจารณาเรื่องนี้สู่รัฐบาลไว้ 2 ข้อ คือ ประการแรก เราจะร่วมมืออย่างไรให้ประชาชนมีความตระหนักในการเป็นประชาคมอาเซียน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของอาเซียนร่วมกัน ประการที่สอง เราต้องให้ทุกองคาพยพใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการวางนโยบายทั้ง 3 เสาหลัก ให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมของประชาชน ให้ประเทศไทยอยู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างพอเพียง พอดี และมีภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชนทุกคน” นายสุรเกียรติ์กล่าว
โดยการเสนอแนวทางและข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาฯ จะได้นำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป