กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--องค์การมหาชน
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ประกาศผล 6 สุดยอดธุรกิจสร้างสรรค์ สาขางานฝีมือและหัตถกรรม และสาขางานออกแบบ ที่ได้รับการคัดเลือกรับ รางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2554 รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เชื่อมั่นเป็นแรงกระตุ้นผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับ การใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดธุรกิจไทย
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD เปิดเผยว่า “การจัดทำโครงการรางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2554 รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นครั้งที่ 2 โดยถือเป็น โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภาครัฐโครงการแรก ที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจทุกระดับเกิดความตื่นตัว เกิดความอุตสาหะ และมีกำลังใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคม โดย OKMD เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจทุกระดับที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้า โดยมีการผสมผสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทยกับความรู้สมัยใหม่ส่งผลงานใน 2 สาขา คือ สาขางานฝีมือและหัตถกรรมและสาขางานออกแบบ เข้ามาร่วมคัดเลือกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สนใจตอบรับเข้าร่วมส่งผลงานเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 133 ราย และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ตัดสินคัดเลือก 6 สุดยอดธุรกิจสร้างสรรค์จากทั้ง 2 สาขา ให้ได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2553 และได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2554”
นายปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า “ธุรกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 6 ราย เป็นผลงานที่ผู้ประกอบการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเด่นชัด มีการศึกษาวิจัยด้านการตลาด การเลือกใช้วัสดุ และการออกแบบ เพื่อที่จะสร้างผลงานใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแตกต่างจากสินค้าที่อยู่ทั่วไป และที่สำคัญคือ ความโดดเด่นในการนำวัสดุธรรมชาติของไทยที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพงมาดัดแปลงเป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น และสามารถนำมาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ สร้างและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนได้จริง”
โดย 6 สุดยอดธุรกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2553 ใน 2 สาขา มีรายนามดังนี้
สาขางานฝีมือและหัตถกรรม จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
1. บริษัทไตรโหมด ดีไซน์ จำกัดผู้ผลิตเครื่องประดับ มีความโดดเด่นด้านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเครื่องประดับที่แปลกใหม่และแตกต่างไปจากรูปแบบเดิม โดยการทดลองใช้วัสดุและเทคนิคการผลิตใหม่ๆ ที่สะท้อนกลิ่นอายทางวัฒนธรรม จนสร้างสรรค์เป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมีศักยภาพในการส่งออกและเติบโตทางธุรกิจสูง
2. บริษัท เบญจเมธา เซรามิก จำกัดผู้ผลิตเซรามิกมีความโดดเด่นด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่นได้เป็นอย่างดีโดยสามารถผสมผสานวัตถุดิบที่แตกต่างได้อย่างลงตัว และสามารถสร้างสรรค์ผลงานเซรามิกรูปแบบใหม่ที่มีจุดเด่นทางด้านพื้นผิวลวดลายน้ำหนัก และแสดงคุณค่าผลงานเชิงศิลปะอย่างมีพลังมีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจสูง
3. ศรัณย์ผู้ผลิตจิกซอกระดาษจากเชือกกล้วย มีกระบวนการค้นคว้าทดลองเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของชุมชนมาผสมผสานกับเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบสมัยใหม่ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายรูปแบบ มีประโยชน์ใช้สอยได้จริงและสามาถนำไปประยุกต์ต่อยอดได้ง่ายเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถสร้างจุดยืนในตลาดได้
สาขางานออกแบบ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
1. บริษัทตาล จำกัด ผู้ผลิตชาแต่งกลิ่นเป็นแบบอย่างการดำเนินธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ตลอดกระบวนการทำให้เพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ได้อย่างโดดเด่นและทรงพลังนับตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบชาชั้นเลิศคุณภาพสูงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สื่อสารเรื่องราวผ่านภาษาภาพได้อย่างงดงาม จนสร้างความประทับใจต่อผู้บริโภค มีศักยภาพทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศสูง
2. บริษัทนิว อาไรวา จำกัดผู้ผลิตของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้าน มีการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจบนพื้นฐานความเข้าใจความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบและสอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของผู้บริโภค มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและสามารถส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก
3. บริษัทพลัสเซนส์ จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง ใช้แนวคิดการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Design) โดยการนำวัสดุอลูมิเนียมเหลือใช้มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนายกระดับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จากการรับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ มาเป็นผู้ผลิตที่มีดีไซน์และแบรนด์ของตนเอง โดยสร้างความร่วมมือกับนักออกแบบอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตเชิงอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 2 สาขา จะได้รับโล่รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท นอกจากนี้ OKMD จะมอบเกียรติบัตรแก่ธุรกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านเข้ารอบตัดสินทั้ง 2 สาขา จำนวน 14ราย มีรายนามดังนี้
สาขางานฝีมือและหัตถกรรมได้แก่
1) บริษัท ออลล์ อาร์ท คราฟท์ จำกัด2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวผัดแฟคทอรี่ 3) หัตถกรรมกระจูดวรรณี4) ไทค์ไลน์ 5) ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชติอนันต์โลหะกิจ 6) พร 7) ภรฏา
สาขางานออกแบบได้แก่
1) บริษัท โซไนต์อินโนเวทีฟเซอร์เฟสเซส จำกัด 2) บริษัท โอชิซู จำกัด 3) สุรเสกข์ 4) บริษัท ไอซเดีย จำกัด5) เกเรสเตชั่นเนรี6) บริษัทไตรโหมดสตูดิโอจำกัด7) บริษัทไทยเทคโนกลาส จำกัด
นายปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า “OKMD หวังว่า รางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2554 จะเป็นโครงการที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจ ซึ่งหมายรวมถึงผู้ประกอบการและบุคลากรวิชาชีพต่างๆ หันมาสนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสินค้าและบริการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มากขึ้น พร้อมทั้งหวังว่า โครงการฯ นี้จะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้เป็นสาขาหลักในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยบนเวทีโลกอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต”
โดย OKMD จะจัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานธุรกิจสร้างสรรค์ทั้งหมด เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้และแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้รับความรู้และร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ในเดือนพฤศจิกายน 2554สามารถติดตามรายละเอียดที่ www.creativeokmd.comwww.okmd.or.thหรือ www.facebook.com/ThaiCreativeAwards