ธนาคารไทยพาณิชย์แถลงผลประกอบการเบื้องต้นปี 2545 และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

ข่าวทั่วไป Monday January 20, 2003 09:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ทำให้ทุกธนาคารในประเทศไทยรวมทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ต้องประสบปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการหากำไร และต่อเนื่องถึงความเพียงพอของเงินกองทุน ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้พยายามแก้ไขปัญหาและวางกลยุทธ์เพื่อฟื้นฟูสถานะของธนาคารให้กลับมาแข็งแกร่ง พร้อมที่จะทำธุรกิจต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการใน 3 กลยุทธ์หลักมาเป็นลำดับตั้งแต่ปี 2542 กล่าวคือ
- การสร้างเงินกองทุนให้มีความแข็งแกร่ง (Recapitalization) โดยการเพิ่มทุนที่เป็นเงินกองทุนที่แท้จริงจำนวน 65,000 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม 2542 ทำให้ ณ ไตรมาส 3/2545 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 16.6 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่
- การแก้ไขปัญหาคุณภาพสินทรัพย์โดยการปรับโครงสร้างหนี้ (Restructuring) การฟ้องร้องบังคับคดี และการตัดหนี้สูญ ทำให้สินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาของธนาคารลดลงจากระดับสูงสุด ณ สิ้นปี 2541 ซึ่งมีจำนวน 234,930 ล้านบาทหรือร้อยละ 42.5 เป็น 119,704 ล้านบาทหรือร้อยละ 24.3 ณ สิ้นปี 2545 (ข้อมูลเบื้องต้น)
- การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร (Reorganization) เพื่อสร้างความพร้อมในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้โครงการปรับปรุงธนาคาร (Change Program) ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ไตรมาส 4/2545
จากการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจาก 4,681 ล้านบาทในปี 2542 เป็น 9,816 ล้านบาท และ 9,612 ล้านบาท ในปี 2543 และ 2544 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นเป็น 12,338 ล้านบาทในปี 2545 (ข้อมูลเบื้องต้น)
ในช่วงเวลาดังกล่าว ธนาคารตระหนักดีว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลให้สินเชื่อบางรายมีคุณภาพเสื่อมลงจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การเสื่อมค่าของหลักประกัน หรือการไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่ได้ตกลงไว้ ทำให้ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารยังคงตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้มีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับและสูงกว่าที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก รวมทั้งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยทั่วไป ยังคงมีความเห็นว่าภาคการธนาคารของไทยจำเป็นต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2545 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสที่ 4 ธนาคารจึงได้ริเริ่มให้มีการปรับปรุงกระบวนการประเมินคุณภาพสินเชื่อของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจ SME และสินเชื่อบุคคล ตามมาตรฐานที่ดี (Best Practices) และได้เสนอให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเป็นลำดับ
ดังนั้นในวันที่ 17 มกราคม 2546 คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่อง ผลประกอบการปี 2545 และนโยบายการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น (Shareholder Value) ในระยะยาว และได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ให้ตั้งค่าใช้จ่ายสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาสที่ 4 ของปี 2545 เป็นจำนวน 16,646 ล้านบาท หรือเป็นจำนวนรวม 24,825 ล้านบาทสำหรับทั้งปี 2545 ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ สิ้นปี 2545 จำนวน 79,807 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรองรับการเสื่อมค่าของคุณภาพสินเชื่อโดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาได้อย่างเต็มที่ โดยอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.7 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ไทย
การตั้งสำรองดังกล่าวจะส่งผลให้ผลประกอบการปี 2545 แสดงผลขาดทุนสุทธิจำนวน 12,488 ล้านบาท และเงินกองทุนของธนาคาร ณ สิ้นปี 2545 มีจำนวน 62,028 ล้านบาท (ร้อยละ 14.0) ประกอบด้วยเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 36,121 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 ซึ่งเป็นอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่สูงกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ร้อยละ 4.25) และเงินกองทุนชั้นที่ 2 อีกจำนวน 25,907 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9
นอกจากนี้คณะกรรมการธนาคารยังได้ให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของฝ่ายจัดการในการทยอยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั่วไป (General Loan Loss Provision) ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2546 ในจำนวนประมาณเดือนละ 200 ล้านบาท เพื่อให้มีสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั่วไปอยู่ในระดับร้อยละ 2 ของเงินให้สินเชื่อที่มิใช่สินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาซึ่งได้ตั้งสำรองไว้ในครั้งนี้แล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามหลักการระมัดระวังและเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2. ให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปี 2546 อนุมัติการชดเชยผลขาดทุนสะสมตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2544 เพื่อเตรียมการสำหรับการจ่ายเงินปันผลต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการธนาคารพิจารณาแล้วเห็นว่าธนาคารมีทุนสำรองประเภทต่างๆที่กฎหมายยินยอมให้ใช้ล้างขาดทุนสะสมได้จำนวนมากพอ และหลังจากการตั้งสำรองให้เพียงพอในครั้งนี้แล้ว ต่อไปธนาคารจะมีผลกำไรสุทธิที่จะนำมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้
คณะกรรมการธนาคารมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับความพยายามเพิ่มรายได้จากธุรกิจ ควบคุมค่าใช้จ่ายและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ตามแผนงานที่กำหนดจะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิต่อส่วนทุน (Return on Equity) ให้อยู่ในระดับที่ผู้ถือหุ้นพอใจได้ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป
เอกสารแนบ: รายละเอียดผลประกอบการปี 2545 ก่อนการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ทีมนักลงทุนสัมพันธ์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
โทร. 02-544-4206-7, 02-544-4212
www.scb.co.th
เอกสารแนบ - ผลประกอบการของธนาคารไทยพาณิชย์ก่อนการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระ
สรุปผลประกอบการที่สำคัญในไตรมาส 4/2545 และปี 2545
1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่าย ในไตรมาส 4/2545 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่าย (ก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) จำนวน 4,412 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 4,588 ล้านบาทในไตรมาส 3/2545 เป็นผลจากการลดดอกเบี้ยในเดือนตุลาคมซึ่งทำให้รายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงทันทีเนื่องจากเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ลดลงเพียงเล็กน้อยในไตรมาสนี้เนื่องจากเงินฝากส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำ สำหรับงวดสิ้นปี 2545 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยรับและเงินปันผลสุทธิ 17,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,405 ล้านบาทหรือร้อยละ 8.7 เนื่องจากมีการบริหารสภาพคล่องที่ดีและมีรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่สูงขึ้น รวมทั้งสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวดีขึ้น
2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 2,194 ล้านบาทในไตรมาส 4/2545 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2,145 ล้านบาทในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากที่ธนาคารยังคงมีกำไรต่อเนื่องจากการลงทุน กำไรจากการปริวรรต และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยและร่วม
สำหรับงวดสิ้นปี 2545 ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจำนวน 8,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,354 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีกำไรจากการปริวรรตเพิ่มขึ้น 923 ล้านบาท เป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากขึ้น และปริมาณธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ธนาคารยังได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 549 ล้านบาท (หรือร้อยละ 10.7) เป็นผลส่วนใหญ่จากธุรกิจบัตรเครดิต การจัดการเงินกู้และการจำหน่ายตราสารเพื่อการลงทุน อีกทั้งธนาคารยังมีกำไรจากการขายตราสารทุนในปีนี้อีก 720 ล้านบาทเทียบกับขาดทุน 285 ล้านบาทในปีก่อน
3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย ในไตรมาส 4/2545 ธนาคารมีค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษจากค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขาย) จำนวน 3,493 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 3,239 ล้านบาทในไตรมาสก่อน ทั้งนี้เป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมระหว่างธนาคารที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจบัตรเครดิตและบัตร ATM และจากการตั้งสำรองสำหรับโครงการส่งเสริมการขายบางโครงการ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานงวดสิ้นปี 2545 จำนวน 13,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12,979 ล้านบาทในปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 58.2 ในปีก่อนเป็นร้อยละ 52.6 ในปีนี้
ในปี 2545 ธนาคารมีการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขายจำนวน 900 ล้านบาท เทียบกับ 100 ล้านบาทในปีก่อน ตามการเสื่อมค่าของสินทรัพย์บางประเภท ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยทั้งสิ้น 14,112 ล้านบาทเทียบกับ 13,079 ล้านบาทในปีก่อน
4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในปี 2545 รวม 24,825 ล้านบาท (ปี 2544 จำนวน 9,207 ล้านบาท) ทำให้ ณ สิ้นปี 2545 ธนาคารมีสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 79,807 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาร้อยละ 66.7
5. ผลประกอบการโดยรวม ในไตรมาส 4 ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 13,533 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 355 ล้านบาทในไตรมาสก่อน และสำหรับทั้งปี 2545 มีผลขาดทุนสุทธิ 12,488 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 405 ล้านบาทในปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลประกอบการก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ธนาคารจะมีกำไรก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3,113 ล้านบาทในไตรมาส 4/2545 เทียบกับ 2,924 ล้านบาทในไตรมาสก่อนและมีกำไรก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 12,338 ล้านบาทในงวดปี 2545 เพิ่มขึ้นจาก 9,612 ล้านบาทในปี 2544
งบดุล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2545
1. เงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2545 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 485,111 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) 407,793 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.3 จากสิ้นปี 2544 สาเหตุหลักเกิดจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มในปีนี้จำนวน 24,825 ล้านบาทและจากการโอนขายหนี้จำนวน 3,811 ล้านบาท (มูลค่าทางบัญชีสุทธิ) ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย และหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับมีจำนวนลดลง 1,693 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.3
2. เงินฝาก ธนาคารมียอดเงินฝาก 568,602 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2544 จำนวน 32,388 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ลูกค้าธนาคารถอนเงินไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ
3. ส่วนของผู้ถือหุ้น ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 52,118 ล้านบาท มีเงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) รวม 62,028 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 14.0 ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 8.2 ของสินทรัพย์เสี่ยง
สินเชื่อจัดชั้นมีปัญหา
ธนาคารมีสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาตั้งแต่ชั้นต่ำกว่ามาตรฐานลงมา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2545 จำนวนทั้งสิ้น 119,704 ล้านบาทหรือร้อยละ 24.3 ลดลงจากจำนวน 121,688 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.3 ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพตามคำนิยามใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2545 มีจำนวน 118,257 ล้านบาทหรือร้อยละ 24.2--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ