(ต่อ3) ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ประจำวันที่ 14 มกราคม 2545

ข่าวทั่วไป Monday January 20, 2003 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
คณะรัฐมนตรีได้มีผลการประชุมเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2545 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ซึ่งสรุปผลการประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ดังนี้
7. เรื่อง โครงการลงทุน ณ ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 (สุวรรณภูมิ) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ดำเนินโครงการลงทุนณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวม 6 โครงการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้ 1) โครงการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ วงเงินลงทุน 3,779.12 ล้านบาท 2) โครงการครัวการบิน วงเงินลงทุน 3,944.46 ล้านบาท 3) โครงการบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น วงเงินลงทุน 1,933.17 ล้านบาท 4) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงินลงทุน 2,686.72 ล้านบาท 5) โครงการบริการลูกค้า วงเงินลงทุน 648.25 ล้านบาท 6) โครงการศูนย์ปฏิบัติการ วงเงินลงทุน 743.79 ล้านบาท ภายในกรอบวงเงินลงทุนรวม 13,735.51 ล้านบาทระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (2545 - 2548) โดยใช้งบลงทุนของ บกท. ในปีงบประมาณ 2545 และผูกพันข้ามปีงบประมาณไปจนถึงปีงบประมาณ 2548
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการลงทุน ณ ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 (สุวรรณภูมิ) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยสาระสำคัญของโครงการและความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อพัฒนากิจกรรมให้บริการด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้การบริการได้ครบวงจรอย่างมีคุณภาพที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณความต้องการของผู้โดยสารและสินค้าที่เพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน
3. เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของการบริหารต้นทุนในการดำเนินการ
4. เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นประตูสู่ประเทศอินโดจีน โดยมีกรุงเทพฯ เป็น Aviation Hub
5. เพื่อสนับสนุนให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถเปิดดำเนินการได้ โดยมีความพร้อมและสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ
เป้าหมาย เพื่อดำเนินการลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้แล้วเสร็จ มีความสมบูรณ์พร้อมปฏิบัติการตั้งแต่วันเปิดท่าอากาศยาน สามารถเสริมสร้างและสนับสนุนให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานชั้นนำแนวหน้าของโลก รักษาการเป็นศูนย์เครือข่ายการบิน (Home Base) ของ บกท. ที่กรุงเทพฯ มีมาตรฐานการบริการติดอันดับ World Class รักษาส่วนครองตลาดของแต่ละธุรกิจไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รักษาส่วนแบ่งกำไรให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน และดำเนินการย้ายเที่ยวบินของ บกท. ไปที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามกำหนดเวลาที่สอคล้องกับแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โครงการฯ ประกอบด้วย
1. โครงการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (Cargo) มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับปริมาณสินค้าเข้า ถ่ายลำและส่งออกระหว่างประเทศ (International Volume) ที่ขนส่งโดยเครื่องบินของ บกท. และสายการบินลูกค้า 1,226,000ตันต่อปี และเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่ขนส่งโดยเครื่องบินของ บกท. 117,800 ตันต่อปี
2. โครงการครัวการบิน (Catering) มีเป้าหมายให้บริการในปี 2548 ได้จำนวน 61,894 ชุด/วัน เมื่อสิ้นปี 2552 จะมีความสามารถในการผลิต 77,992 ชุด/วัน และจะมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 85,000 ชุด/วัน ในปี 2554
3. โครงการบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Service Equipment) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการภาคพื้นอย่างครบวงจร ทั้งผู้โดยสารและสัมภาระสินค้าในเที่ยวบินของ บกท. ทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมทั้งให้บริการภาคพื้นแก่เที่ยวบินสายการบินพันธมิตรและสายการบินลูกค้า
4. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aircraft Maintenance) มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการซ่อมบำรุงระดับลานจอดและการแก้ไขข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกิดกับอากาศยาน สามารถรองรับจำนวนอากาศยานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตรวมทั้งรองรับอากาศยานแบบใหม่ที่มีความจุของผู้โดยสารตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
5. โครงการบริการลูกค้า (Customer Service) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการภาคพื้นภายในอาคารตามมาตรฐาน LATA ทางด้านการโดยสาร สัมภาระ และงานควบคุมระบบท่าอากาศยานอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงระบบเช็คอิน ระบบปฏิบัติการบรรทุก และกิจกรรมอื่น ๆ ภายในอาคารผู้โดยสารที่เกี่ยวกับเที่ยวบิน
6. โครงการศูนย์ปฏิบัติการ (Operation Center) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการของ บกท. ในการรองรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ระยะเวลาดำเนินงาน ประมาณ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2545 - 2548) โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 13,735.51 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 โครงการ คือ โครงการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ 3,779.12 ล้านบาท โครงการครัวการบิน 3,944.46 ล้านบาท โครงการบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น 1,933.17 ล้านบาท โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 2,686.72 ล้านบาท โครงการบริการลูกค้า 648.25 ล้านบาท โครงการศูนย์ปฏิบัติการ 743.79 ล้านบาท
สำหรับแหล่งเงินทุน บกท. จะใช้แหล่งเงินลงทุนใน (Internal Fund) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่ได้จากการดำเนินงานเป็นหลัก ซึ่งหากไม่เพียงพอก็จะพิจารณาความต้องการเงินทุนส่วนที่ขาดไปจากแหล่งเงินทุนภายนอก (ExternalFund) ได้แก่ การขายหุ้นเพิ่มทุน การกู้เงิน การออกพันธบัตร และการเช่าซื้อ โดยจะเลือกแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด จากการลงทุนรวมทั้ง 6 โครงการย่อย วงเงิน 13,735.51 ล้านบาท อายุโครงการ 20 ปี โครงการจะมีผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย (IRR) ร้อยละ 13.28 มีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี 9 เดือน และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 3,322.03 ล้านบาท (อัตราส่วนลดร้อยละ 8.5)
8. เรื่อง เห็นชอบโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และคนจนในเมือง
คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และคนจนในเมือง ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการ "บ้านเอื้ออาทร" จำนวน 11,727หน่วย วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,620.229 ล้านบาท โดยมีโครงการนำร่องรวม 5 พื้นที่ ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2546 - 2547) สำหรับโครงการระยะที่ 2 ให้ดำเนินการตามหลักการและแนวทางโครงการนำร่อง โดยไม่ต้องนำเสนอขอความเห็นชอบโครงการย่อยอีก
2. เห็นชอบโครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด โครงการ "บ้านมั่นคง" โดยมีโครงการนำร่อง 10 โครงการ จำนวน 1,525 หน่วย วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 319.22 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน2546 - 2547
3. เห็นขอบในการให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนแก่โครงการทั้งสอง ดังนี้
3.1 โครงการ "บ้านเอื้ออาทร"
1) เป็นเงินอุดหนุนค่าพัฒนาสาธารณูปโภค ค่าก่อสร้างอาคารสาธารณูปการ เป็นจำนวน 1,000ล้านบาท
2) ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ การเคหะแห่งชาติเพื่อจัดทำโครงการในวงเงิน 3,620.229 ล้านบาท และจัดหาแหล่งสินเชื่อระยะยาวแก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการ เพื่อเช่าซื้อในอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ ปรับอัตราดอกเบี้ยทุกระยะ 3 ถึง 5 ปี มีระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 30 ปี โดยมีรูปแบบการผ่อนชำระแบบปรับอัตราทุกปี ปีละประมาณร้อยละ 2.5 ถึง 5 (PROGRESSIVE RATE) และมีค่าผ่อนชำระไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ครัวเรือนต่อเดือน
3.2 โครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด "บ้านมั่นคง"
1) เงินอุดหนุนสำหรับโครงการนำร่องในการพัฒนาสาธารณูปโภค ค่าบริหารจัดการ แลอุดหนุนส่วนต่างดอกเบี้ย รวม 126.63 ล้านบาท
2) เงินอุดหนุนในการจัดกระบวนการวางแผนการแก้ไขปัญหาทั้งเมืองอย่างเป็นระบบ โดยให้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกนหลัก วงเงิน 20 ล้านบาท
4. ให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่นให้ความร่วมมือ และสนับสนุนที่ดินเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัดตามโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้อยู่อาศัยกระจัดกระจายอยู่นอกชุมชน ผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่า บ้านพักตามโรงงาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดบริการพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (2545 - 2549) การเคหะแห่งชาติได้ประมาณการความต้องการที่อยู่อาศัยจากครัวเรือนที่เกิดใหม่และเพื่อทดแทนการรื้อถอน และที่ยังอยู่ในที่อยู่อาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานในทุกระดับรายได้จำนวน 3.3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศในจำนวนนี้มีผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในชุมชนแออัดประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน และอยู่นอกชุมชนประมาณ 370,000ครัวเรือน
ในจำนวนนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ครัวเรือนเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและนอกชุมชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 650,000 ครัวเรือน ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดภาคเอกชนได้ รัฐจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อให้มีการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต และสามารถอยู่ในสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้จัดทำและนำเสนอแนวทางและโครงการนำร่องเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามนโยบายดังกล่าวเป็น 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการบ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วไป และโครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด โดยมีสาระสำคัญของโครงการโดยสรุป ดังนี้
1. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส "โครงการบ้านเอื้ออาทร" เป็นโครงการเสริมสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ครัวเรือนเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท และ15,000 บาท (ระดับรายได้ในปี 2546) โดยการจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมพร้อมระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็น มีเป้าหมายดำเนินการทั้งโครงการจำนวน 11,727 หน่วย โดยจัดสร้างทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในเมืองหลักเมืองรองในภูมิภาค โดยมีการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 4,175 หน่วย และระยะที่ 2 จำนวน 7,552 หน่วย โดยมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,620.229 ล้านบาท ประกอบด้วย
โครงการะยะที่ 1 โครงการนำร่องจัดสร้างที่อยู่อาศัยจำนวน 4,175 หน่วย ใน 5 พื้นที่ คือ
1) โครงการบ้านเอื้ออาทรหัวหมาก รวม 692 หน่วย ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 24ตารางเมตร จำนวน 460 หน่วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวน 232 หน่วย
2) โครงการบ้านเอื้ออาทรประชานิเวศน์ รวม 1,530 หน่วย ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 24 ตารางเมตร จำนวน 1,334 หน่วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวน 196 หน่วย
3) โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง รวม 836 หน่วย ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 24ตารางเมตร จำนวน 500 หน่วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวน 336 หน่วย
4) โครงการบ้านเอื้ออาทรเชียงใหม่ รวม 640 หน่วย ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 24ตารางเมตร จำนวน 524 หน่วย อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวน 116 หน่วย
5) โครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลองสาม ประกอบด้วย อาคารบ้านพักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยวสองชั้น ขนาด 48.50 ตารางเมตร พร้อมที่ดิน ขนาด 19.5-21 ตารางวา จำนวน 477 หน่วย
โครงการระยะที่ 1 (โครงการนำร่อง) มีวงเงินลงทุนรวม 1,549.248 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนจำนวน345.840 ล้านบาท เงินกู้ 1,203.408 ล้านบาท
โครงการระยะที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวน 7,552 หน่วย ในพื้นที่เป้าหมายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมืองหลักและเมืองรองในภูมิภาคจำนวน 24 จังหวัด วงเงินลงทุนรวม 3,070.981 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุน 654.160 ล้านบาท เงินกู้ 2,416.821 ล้านบาท
การดำเนินงานโครงการ "บ้านเอื้ออาทร" เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2546 แล้วเสร็จประมาณกลางปี2548 รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 ปี(ยังมีต่อ)
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ