กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--สสวท.
รายงานข่าวจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการพิจารณาและปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศไทย ในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรอนาคตสองภาษา ระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และ Teacher College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 โรงแรมวินด์เซอร์สวีท สุขุมวิท กทม.
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความเชี่ยวชาญจาก 3 องค์กร เพื่อวิจัยและพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการในการพัฒนาของประเทศไทย การพัฒนาหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ สสวท. ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยมีการปรับปรุงมาเป็นลำดับ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการด้านการศึกษาของประเทศไทย รวมทั้งตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
หลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ของ สสวท. ทุกฉบับ มีพื้นฐานการพัฒนามาจากการระดมพลังสมองของบุคลากร สสวท. บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมกับความต้องการและข้อเสนอแนะของครูผู้สอนจากทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบกับผลการศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตรของประเทศต่างๆ และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการประกาศหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สสวท. ได้พัฒนาต้นร่างหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์สำหรับใช้ในอนาคตขึ้น เพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ และเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจการพัฒนาหลักสูตรในรอบต่อไปอย่างมีคุณภาพและทันท่วงที
ประกอบกับทิศทางการพัฒนาประเทศให้แข่งขันได้ระบบเศรษฐกิจไร้พรมแดน ส่งผลให้เกิดความต้องการหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สำหรับเตรียมพร้อมให้เยาวชนสามารถศึกษาต่อและประกอบอาชีพได้ในสภาพสังคมโลกาภิวัฒน์ จึงมีแนวคิดในการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาหลักสูตรในระดับนานาชาติ พิจารณาให้ข้อคิดเห็นร่างหลักสูตรสำหรับใช้ในอนาคตที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ เปรียบเทียบกับมาตรฐานหลักสูตรจากนานาประเทศ และกรอบการประเมินโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA)
เพื่อให้การดำเนินโครงการพัฒนาหลักสูตร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สสวท. ได้ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และ Teachers College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในการสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในภาคส่วนต่างๆ รวบรวมและจัดการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรอย่างเป็นระบบ เกิดประโยชน์สูงสุดในการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของประเทศ เพื่อนำมาซึ่งกรอบมาตรฐานหลักสูตรที่เหมาะสม ชัดเจน ก่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ต่อไป
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาหลักสูตรอนาคตสองภาษา สสวท. ที่อาจารย์สติยา ลังการ์พินธุ์ Email : slang@ipst.ac.th